กรุงศรีฟินโนเวต จ่อระดมทุน 1,000 ล้าน ลุย VC กอง 2

22 ก.ค. 2565 | 14:50 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2565 | 21:50 น.

กรุงศรีฟินโนเวต ชี้กองทุน Venture Capital : VC ทั่วโลกปรับมุมมองลงทุนในสตาร์ตอัพที่มีแผนกำไรชัด รุดคำนวณมูลค่าใหม่ เหตุเงินเฟ้อพุ่ง ดอกเบี้ยเพิ่มต้นทุน เล็งระดมทุน 1,000 ล้านบาท ตั้งกองทุนที่ 2 ในปี 66 พร้อมกำงบอีก 5,000 ล้านลงทุนปีนี้

ท่ามกลางการเดินหน้าปรับกลยุทธ์ธุรกิจธนาคารดั้งเดิมให้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีหรือการลงทุนด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่สะดวก รวดเร็วและตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ล่าสุดธนาคาร กรุงศรีอยุธยา โดยบริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด บริษัทร่วมลงทุน (CVC) ในเครือกรุงศรี ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านฟินเทคและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้านการธนาคารทั้งในประเทศและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉลียงใต้ มาฉายภาพรวมธุรกิจร่วมลงทุน หลังการระบาดของโควิด-19

 

นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัดเปิดเผยว่า ธุรกิจร่วมลงทุน (กองทุน Venture Capital: VC) ทั่วโลก เปลี่ยนมุมมองการลงทุนในสตาร์ตอัพ จากปัจจัยเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ VC เน้นลงทุนในสตาร์ตอัพที่มีแผนกำไรที่ชัดเจน โดยไม่เน้นอัตราของการเผาเงินทุน (ฺBurn Rate) มากๆ เพื่อสร้างส่วนแบ่งการตลาด

นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด

 

โดยเฉพาะการคำนวณมูลค่า(Valuation)ของสตาร์ตอัพใหม่ ในธุรกิจ VC ซึ่งส่งผลให้มูลค่าที่คำนวณใหม่ถูกปรับลง โดยริ่มเห็นสตาร์ตอัพที่มีตัวเลขตั้งแต่ 200-300 ล้านบาทหรือไซซ์ใหญ่จะถูดลดมูลค่า ทำให้ราคาถูกลง แต่สตาร์ตอัพต้องการ Valuation เท่าเดิม จึงทำให้แนวโน้มโอกาสจบดีลใหม่ๆ ไม่มากเท่าสมัยก่อน

 

สำหรับกรุงศรี ฟินโนเวตยังคงเดินหน้านโยบายการลงทุนต่อเนื่อง แต่จะเพิ่มการพิจารณาในรายละเอียดมากขึ้นและเน้นลงทุนในสตาร์ตอัพรายเล็กที่เพิ่งเริ่มต้น(Early Stage) ที่มีแผนกำไรที่ชัดเจน แต่สตาร์ตอัพกลุ่ม Series A ก็มีน้อยลง เพราะในกลุ่ม Series A ขึ้นไป ไม่ว่า B หรือ C ทุกคนแย่งลงทุนหมด เนื่องจากมีความแข็งแรงแล้ว

“สิ่งที่เมืองไทยยังหาอยู่คือ สตาร์ตอัพก่อนซีรีย์ A ซึ่งยังมีน้อย เรากำลังศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งสร้างและลงทุนด้านที่เราเชี่ยวชาญ เช่น ฟินเทค, อีคอมเมิร์ส เทคและ ออโตโมทีฟ เทคและหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยจัดตั้งเป็นกองทุนที่ 2 ระดมทุนใหม่จากภายนอกราว 1,000 ล้านบาทในปี 2566 และเป็นตัวต่อที่เราจะลงทุนระยะยาว”นายแซมกล่าว

 

สำหรับปีนี้คณะกรรมการการลงทุนของบริษัทได้อนุมัติการลงทุนแล้ว ทั้งลงทุนในไทย เวียดนาม และ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันกำลังตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน(Due Diligence) คาดว่า เกินกว่าครึ่งจะได้รับการลงทุนหรืออย่างน้อยปีนี้น่าจะจบ 12 กิจการ โดยตั้งเป้าลงทุน 1,000 ล้านบาท หากรวมกับกองทุนเก่ากว่า 3,000 ล้านบาท งบลงทุนปีนี้จะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท

 

ส่วนกองทุน “Finnoverse” ที่เปิดตัวเดือนที่ผ่านมา วงเงิน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้แผนลงทุน 3 ปี(65-68) หรือลงทุนปีละ 10 ดอลลาร์ โดย FINNOVERSE แบ่งลงทุนเป็น 5 กลุ่มคือ

  1. ลงทุนในกองทุนต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนใน Web3 และเทคโนโลยีบล็อคเชนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ อียู อิสราเอล เกาหลีใต้
  2. กลุ่ม DeFi Finnance
  3. กลุ่มที่ทำเรื่อง Exchange, NFT ,Metaverse ซึ่งลงทุนไปแล้วใน ZIMMAX
  4. กลุ่มโปรโตคอล (Protocol) เพื่อโอนเงินหรือสินทรัพย์ได้เร็วขึ้น
  5. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)ไม่ว่า คนเก็บเงินหรือ Custodian

 

“เรายังไม่รู้ว่าจะเกิดหรือไม่ แต่เทรนด์และดีมานด์ในไทยมีมูลค่าธุรกรรมลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลติดอันดับโลก ซึ่งเราพร้อมสนับสนุนสตาร์ทอัพคนไทยเป็นอันดับแรก ก่อนจะไปหาในต่างประเทศ”

 

ทั้งนี้ทิศทางอนาคตของแบงก์กรุงศรีฯ จะไป BBB หรือ “BlockChain Base Banking” จากตอนนี้มุ่งเป็น Digital Banking ต่อไปในแง่ระบบการจัดการภายในธนาคารจะต้องมีเทคโนโลยีบลอคเชนเข้ามาหลังบ้าน เพื่อให้ทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ถ้าใช้บล็อคเชนในการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องไปคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะปัจจุบันธปท.ยังไม่อนุญาต

 

ส่วนมุมมองต่อสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น มั่นใจว่า แนวโน้มสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตลงทุน อย่างน้อยไม่ควรเกิน 10% โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าไพรเวท แบงก์กิ้ง หรือกลุ่มไฮเน็ตเวิร์ก (HNW) ซึ่งวันนี้ลูกค้าจะนำเงินออกจากธนาคาร เพื่อไปลงทุนเอง ดังนั้นเมื่อธปท.อนุญาต เราจะให้บริการสินเทรัพย์ดิจิทัล แต่ต้องอยู่ในตลาดและจังหวะที่เหมาะสม

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,802 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565