เอ็กซิมแบงก์ จ่อออกกรีนบอนด์ 1 หมื่นล้านบาท หนุนธุรกิจสีเขียว

21 ก.ค. 2565 | 14:06 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2565 | 21:16 น.

เอ็กซิมแบงก์ จ่อออกหุ้นกู้ วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท รองรับการปล่อยสินเชื่อธุรกิจกลุ่มพลังงานสะอาด ชี้เริ่มขายรอบแรกกันยายนนี้ พร้อมเดินหน้าตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด แม้ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผยว่า เอ็กซิมแบงก์เตรียมออกหุ้นกู้ ในรูปแบบกรีนบอนด์ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 รอบ รอบละ 5,000 ล้านบาท รอบแรกในช่วงเดือนกันยายนนี้

 

เบื้องต้นอายุประมาณ 5-7 ปี เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมสะอาด เช่น โซลาร์ฟาร์ม , แบตรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจอนาคต ที่มองว่ายังมีความต้องการเงินทุนอีกจำนวนมาก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยจะมีการพิจาณาอีกครั้ง

และในช่วง 6 เดือนหลังจากนั้น จะออกหุ้นกู้รอบที่ 2 ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งการระดมทุนครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้เอ็กซิมแบงก์ ได้เสนอไปยังกระทรวงการคลังขอเพิ่มทุนวงเงิน 15,000 ล้านบาท แต่กระทรวงการคลังได้อนุมัติมาเพียง 4,200 ล้านบาท โดยเอ็กซิมแบงก์จะรับเงินครบภายในสิ้นปีนี้

 

“ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น มองว่าไม่กระทบต่อแผนการออกหุ้นกู้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของเอ็กซิมแบงก์ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายจะสูงกว่าไทยมาก เช่น เวียดนาม ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 12% ดังนั้นต่อให้ต้นทุนหุ้นกู้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.50% และเอ็กซิมแบงก์นำมาปล่อยสินเชื่อที่ 4.50% ก็ยังถือว่าเป็นอัตราต่ำ ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มสถาบันการเงินในภูมิภาคแสดงความจำนงหุ้นกู้ล็อตแรกที่เอ็กซิมแบงก์จะออกในช่วงเดือนกันยายนนี้แล้วประมาณ 50%”  นายรักษ์ กล่าว

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์

นายรักษ์ กล่าวอีกว่า แม้ทิศทางดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้น แต่เอ็กซิมแบงก์ พร้อมตรึงดอกเบี้ย Prime Rate 5.75% ต่อปี เพื่อแบ่งเบาภาระด้านต้นทุนของผู้ประกอบการไทย รวมทั้งออกสินเชื่อ "EXIM Export Ready Credit" วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำสุด 4.5% ต่อปีในช่วง 6 เดือนแรก ผ่อนชำระคืนภายใน 3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เสริมสภาพคล่องของกิจการส่งออกและที่เกี่ยวเนื่อง

 

ส่วนกรณีธนาคารกลางของเมียนมาประกาศให้ภาคธุรกิจระงับการชำระหนี้ต่างประเทศสกุลดอลลาร์ฯ นั้น ขณะนี้ยังไม่พบลูกค้าของเอ็กซิมแบงก์ได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังสามารถรับชำระเงินเป็นค่าเงินบาทได้ ซึ่งเป็นผลจากการค้าชายแดนที่ทำให้มีเงินบาทอยู่ในเมียนมาสูง ขณะเดียวกันภาคธุรกิจของเมียนมาจะมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งยังสามารถทำธุรกรรมได้ตามปกติ

 

ทั้งนี้สิ่งที่น่ากังวลจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองในเมียนมาขณะนี้คือ การไหลเข้ามาในไทยของแรงงานเมียนมา ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในไทยขณะนี้ คนที่ได้ประโยชน์อาจไม่ใช่คนไทย ดังนั้นการประกาศปรับขึ้นค่าแรงอาจต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน

 

ขณะที่ผลดำเนินงานของเอ็กซิมแบงก์ในช่วง 6 เดือนปี 2565 มีสินเชื่ออนุมัติใหม่ 34,551 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นวงเงินของลูกค้ากลุ่ม SME จำนวน 8,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

 

ขณะที่จำนวนลูกค้าอยู่ที่ 5,476 รายเพิ่มขึ้น 22.78% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นลูกค้า SME 83.84% ทั้งนี้ เอ็กซิมแบงก์ สามารถบรรลุเป้าหมายสินเชื่อคงค้าง ปี 65 จำนวน 156,500 ล้านบาท ภายใน 7 เดือนแรกของปี 65

 

ทั้งนี้จากยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 65 ที่ 153,508 ล้านบาท เป็นยอดคงค้างสินเชื่อที่สนับสนุนความยั่งยืน จำนวน 43,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.53% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างโครงการระหว่างประเทศมีทั้งสิ้น 66,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,711 ล้านบาท หรือ 7.59%

 

ขณะที่ปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 100,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.07% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีอัตราส่วนหนี้เสีย หรือ NPL ที่ 2.91% มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 12,281 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน 274.67% ซึ่งสูงสุดในระบบ ส่งผลให้ในไตรมาส 2/65 เอ็กซิมแบงก์ มีกำไรก่อนสำรอง 1,217 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.55% และกำไรสุทธิเท่ากับ 604 ล้านบาท