เอ็กซิมแบงก์ เตรียมอีก 1 หมื่นล้าน ปล่อยกู้สายการบินปี 65

22 พ.ย. 2564 | 13:46 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2564 | 20:54 น.

เอ็กซิมแบงก์ เผยวางแผนออกหุ้นกู้ครั้งแรก ปี 65 หวังระดมทุนหมื่นล้านปล่อยกู้รับส่งออกโตตามเศรษฐกิจโลก ขณะที่การเสริมสภาพคล่องสายการบิน ล่าสุดปล่อยกู้แล้ว 4 สายการบิน รวม 5 พันล้าน พร้อมปล่อยต่ออีก 1 หมื่นล้านปีหน้า

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผย ความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มธุรกิจสายการบิน ขณะนี้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ 4 สายการบินไปแล้ว รวมไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ ได้แก่ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินเวียตเจ็ท สายการบินไทยสมายล์ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ โดยแต่ละสายการบินจะได้วงเงินไม่เท่ากัน บางรายได้รับเงิน 2-3 พันล้านบาท บางสายการบินอาจไม่ถึง 1 พันล้านบาท  ซึ่งพิจารณาจากรายรับที่แท้จริง อาทิ ยอดจองตั๋วเครื่องบินในปีหน้า

 

“วงเงินที่ใช้ปล่อยสินเชื่อ เป็นวงเงินของธนาคารเอง โดยไม่มีรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน หรือใช้ซอฟท์โลน ส่วนในปีหน้าธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยกู้ธุรกิจสายการบินเพิ่มอีก  ตั้งวงเงินไว้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท โดยมองว่าธุรกิจการบินน่าจะเติบโตได้ดีขึ้น” นายรักษ์ กล่าว

รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ในปีหน้าธนาคารมีแผนจะระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้เป็นครั้งแรก เพื่อรองรับการฟื้นตัวของการส่งออกและเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารมีความพร้อมทางด้านเม็ดเงิน เข้าไปสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการไทย สามารถมีแหล่งเงินทุนเพื่อใช้สำหรับการลงทุน ส่งออก นำเข้ากับประเทศคู่ค้าได้ดีขึ้น

 

“ปีนี้ธนาคารได้รับการเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังมาแล้ว 4,198 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีทุนจดทะเบียนรวมเป็น 16,998 ล้านบาท และในปี 65 ธนาคารตั้งเป้าหมายออกหุ้นกู้ครั้งแรกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนภารกิจของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น ทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการทั่วไปให้กลายเป็นผู้ส่งออก รวมถึงการปล่อยสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบันเอ็กซิมแบงก์ปล่อยสูงสุดได้ 5-6 พันล้านบาทต่อโครงการ แต่หากมีการออกหุ้นกู้มาแล้ว ก็จะช่วยให้มีวงเงินปล่อยได้มากกว่าเดิม” นายรักษ์ กล่าว

สำหรับผลดำเนินงานในปีนี้ธนาคารคาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการบริหารต้นทุนการเงิน  การเติบโตของการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงธนาคารยังได้มีการตัดขายหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ออกไป 300 ล้านบาท  ช่วยให้ธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ติดลบขาดทุนไป 1,200 ล้านบาท และยังช่วยให้เอ็นพีแอลลดลงไปด้วย จากเกือบ 4% เหลือไม่ถึง 3%