EXIM BANK โชว์ปี 64 กำไรพุ่งกว่า 211% สูงสุดในรอบ 5 ปี

24 ธ.ค. 2564 | 14:33 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2564 | 21:44 น.

EXIM BANK เผยปี 64 แม้เผชิญโควิด-19 แต่ทำกำไรพุ่งกว่า 1,500 ล้านบาท โต 211.96% สูงสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ปี 65 มองเศรษฐกิจไทยแม้ฟื้น แต่ยังโตต่ำและช้ากว่าหลายประเทศ พร้อมเดินหน้าดันผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดเพิ่ม หลังได้รับเงินหนุนจากกองทุนฯ กว่า 4 พันล้าน

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 มียอดคงค้างสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 148,849 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปี 2564 ยอดคงค้างจะสูงถึง 152,383 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการมา 28 ปี เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 17,155 ล้านบาท หรือ 12.69% ณ สิ้นปี 2564 และคาดว่าจะสามารถทำกำไรสุทธิได้สูงถึง 1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 211.96% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งขาดทุนกว่าพันล้านบาท โดยถือเป็นกำไรสุทธิที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี

 

โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 มีปริมาณธุรกิจสะสมบริการประกันเท่ากับ 149,148 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 2564 EXIM BANK จะสามารถเร่งทำผลงานด้านรับประกันให้แตะระดับ 150,000 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินงาน โดยเติบโตจากปีก่อนหน้า 11.05% และขยายจำนวนลูกค้าเป็น 4,845 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 13.17% ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการประมาณ 11,300 ราย ด้วยวงเงินรวมกว่า 70,000 ล้านบาท

 

ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 3.68% คาดว่าภายในสิ้นปี 2564 จะสามารถบริหารจัดการให้ NPL Ratio ลดลงมาอยู่ที่ 2.68% ซึ่งลดลงถึง 1.13% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน และต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540

“EXIM BANK ยังได้รับอนุมัติเงินเพิ่มทุนจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 4,198 ล้านบาท นับเป็นการเพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยแบ่งจ่ายงวดที่ 1 จำนวน 2,198 ล้านบาท ซึ่ง EXIM BANK ได้รับเรียบร้อยแล้วในเดือนพฤศจิกายน 2564 และงวดที่ 2 อีกจำนวน 2,000 ล้านบาท ภายในปี 2565 ทำให้ EXIM BANK เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถทำการค้าการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ตลาดเป้าหมายในกลุ่ม CLMV และตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่มีศักยภาพได้มากยิ่งขึ้น” นายรักษ์ กล่าว

 

รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK

นายรักษ์ กล่าวด้วยว่า ในปี 2565 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจะขยายตัวถึง 4.9% ขณะที่การค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัว 6.7% สูงกว่าอัตราเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ระดับ 3.0% และ 2.7% ตามลำดับ ด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวราว 5% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีแรงหนุนสำคัญมาจากความคืบหน้าของการกระจายและฉีดวัคซีนทั่วโลก ขณะเดียวกัน สินค้าไทยหลายรายการยังตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ได้ดี โดยเฉพาะสินค้าอาหารและผลไม้ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับ Work from Home ของใช้ในบ้าน และสินค้าทางการแพทย์

 

นอกจากนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป นั่นหมายถึง ไทยจะเข้าร่วมตลาดขนาดใหญ่ครอบคลุมอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวม 15 ประเทศ คิดเป็นกำลังซื้อกว่า 30% ของโลกหรือราว 2,200 ล้านคน  ซึ่งไทยส่งออกไปประเทศสมาชิก RCEP อยู่แล้วกว่า 50% ของมูลค่าส่งออกรวม ทำให้สินค้าไทยราว 30,000 รายการ อาทิ ผลไม้ ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ ได้รับการลดภาษีเหลือ 0% จึงเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสเจาะตลาดให้แก่ผู้ส่งออกไทยได้มากขึ้น

 

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง อาทิ การกลายพันธุ์และการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่อาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าบางแห่ง อัตราแลกเปลี่ยนที่อาจผันผวนมากขึ้นหลังธนาคารกลางสำคัญของโลกโดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ หันมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ และปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบโดยเฉพาะชิป รวมถึงต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจกดดันให้ Margin ของผู้ส่งออกไทยลดลงได้

 

รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK

 

อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะกำลังฟื้นตัว แต่ยังขยายตัวต่ำและฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศ เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายมิติ ทำให้วิกฤตโควิด-19 สร้างผลกระทบและมีบาดแผลที่ลึกกว่าประเทศคู่ค้า อาทิ ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยมีจำนวนมาก แต่ยังมีบทบาทต่อเศรษฐกิจน้อยเพราะส่วนใหญ่ค้าขายในประเทศเป็นหลัก เศรษฐกิจไทยจะพลิกฟื้นกลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืน เมื่อผู้ประกอบการลุกขึ้นมาปรับหรือเปลี่ยนสินค้าและกิจการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามเทรนด์ใหม่ ๆ ของโลกได้ ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา ซึ่งจะวางรากฐานการยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่นวัตกรรมยุคใหม่อย่างยั่งยืน สนับสนุนธุรกิจทุกระดับในทุกอุตสาหกรรมทุกช่วงธุรกิจตั้งแต่ “เกิด แก่ เจ็บ และตาย” ด้วยบริการครบวงจร ได้แก่

 

1. “เกิด” การบ่มเพาะความรู้และเติมทุน เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และตั้งต้นส่งออก อาทิ บริการสินเชื่อผู้ส่งออกป้ายแดง การจัดอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำ

2. “แก่” การเสริมทุนและสร้างโอกาสทางการตลาด เพื่อส่งเสริมการขยายกิจการให้เติบโตอย่างมั่นคง อาทิ สินเชื่อเพื่อขยายกำลังการผลิต การจับคู่ธุรกิจ การจัดให้มีแพลตฟอร์มการค้า EXIM Thailand Pavilion

3. “เจ็บ” การช่วยเหลือเยียวยาจากผลกระทบ เมื่อเกิดวิกฤต อาทิ สินเชื่อฟื้นฟู เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงและความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยน

4. “ตาย” การดูแลธุรกิจที่เริ่มไปต่อได้ยากให้มีมูลค่าเพิ่ม หรือสามารถแปลงร่างกลับมาสู่เทรนด์โลกได้ อาทิ สินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan