ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ระดับ 35.70 บาท/ดอลลาร์

05 ก.ค. 2565 | 07:42 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2565 | 17:38 น.
638

ค่าเงินบาท “อ่อนค่า”อาจถูกชะลอได้ด้วยแรงขายของฝั่งผู้ส่งออกที่รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงแนวต้านสำคัญ -วันนี้ เงินเฟ้อทั่วไป เดือนมิถุนายนของไทยอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 8.0%

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.70 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.66 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าทดสอบแนวต้านในโซน 35.75-35.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์

 

รวมถึงแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในจังหวะที่ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ก็มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะยังเดินหน้าทยอยขายหุ้นไทยต่อได้บ้าง

 

 

นอกจากนี้ ต้องระวังแรงขายบอนด์ระยะสั้น หากเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาดและทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาคาดหวังการประชุมพิเศษของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อขึ้นดอกเบี้ย

 

อย่างไรก็ดี  การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอได้ด้วยแรงขายของฝั่งผู้ส่งออกที่รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงแนวต้านสำคัญ

 

รวมถึงหากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นมา ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นบางส่วนที่ได้เข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (Buy on Dip) เริ่มทยอยขายทำกำไรทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็สามารถหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้

 

 

ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.60-35.80 บาท/ดอลลาร์

 

ปริมาณการซื้อขายในตลาดการเงินเบาบางลงกว่าช่วงปกติ หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด วันชาติสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดี บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอย

 

จากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้สะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของยูโรโซน (Sentix Investor Confidence) ในเดือนกรกฎาคมที่ดิ่งลงสู่ระดับ -26.4 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาดและเป็นระดับที่ต่ำสุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020

 

ทั้งนี้ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนัก ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเข้าซื้อหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare ที่ผลประกอบการมีแนวโน้มโดดเด่นในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว (Novartis +1.6%, Novo Nordisk +1.4%) 

 

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบจากแนวโน้มตลาดน้ำมันยังอยู่ในสภาวะตึงตัวก็ได้หนุนให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานยุโรปต่างปรับตัวขึ้น (Total Energies +4.5%, BP +4.4%) ช่วยทำให้ ดัชนี STOXX600 ของยุโรป สามารถปรับตัวขึ้นราว +0.54%

 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีแนวโน้มแกว่งตัวใกล้ sideways ในระยะสั้นนี้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯและทิศทางนโยบายการเงินเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ

 

อาทิ ISM Services PMI, ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมและอัตราการว่างงาน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มักเคลื่อนไหว ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเฟด (Terminal Rate)

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 105.1 จุด หนุนโดยการอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดอ่อนค่าแตะระดับ 135.9 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง

 

ขณะเดียวกัน สกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) ก็ยังคงถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและวิกฤติพลังงานที่อาจเกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ดี เงินยูโร (EUR) ยังมีแนวโน้มผันผวนไปตามมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะประธาน ECB ในประเด็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

 

ตลาดเริ่มคาดหวังว่า ECB อาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้เงินยูโร (EUR) อาจเผชิญแรงกดดันในระยะสั้นได้ หาก ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณสอดคล้องกับความคาดหวังการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของตลาด หรือ ECB แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า เงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนมิถุนายน ของไทยอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 8.0% (ตลาดคาด 7.5%) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน รวมถึงอาหารและการส่งผ่านต้นทุนสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น

 

หากเงินเฟ้อสูงกว่าคาดไปมากก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคาดหวังว่าอาจมีการประชุม กนง. รอบพิเศษเพื่อปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมุมมองดังกล่าวอาจทำให้บอนด์ยีลด์ระยะสั้นผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นได้ หลังรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ

 

ฝั่งออสเตรเลีย ตลาดประเมินว่า ปัญหาเงินเฟ้อสูง ท่ามกลางแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยหนุนให้ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) มีโอกาสที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยกว่า 0.50% สู่ระดับ 1.35% และมีโอกาสที่ RBA อาจขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในอนาคต หากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาด

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทขยับอ่อนค่าไปที่ 35.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่งครั้งใหม่) ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับประมาณ 35.65-35.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.00 น.) ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 35.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแม้เงินบาทจะยังคงมีแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากการคาดการณ์ในเรื่องความแตกต่างของจังหวะการคุมเข้มนโยบายการเงินซึ่งล่าช้ากว่าสหรัฐฯ ขณะที่การฟื้นตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หนุน sentiment ของเงินดอลลาร์ฯ เพิ่มเติมในช่วงเช้าวันนี้ อย่างไรก็ดี ทิศทางเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นช่วยประคองภาพรวมของเงินเอเชีย และจำกัดกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทไว้ได้บางส่วนสำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 35.60-35.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญในประเทศ น่าจะอยู่ที่การตอบรับของตลาดต่อตัวเลขเงินเฟ้อของไทย (ล่าสุดขยับขึ้นไปที่ 7.66% ในเดือนมิ.ย. เทียบกับ 7.1% ในเดือนพ.ค.) รวมถึงสัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ 

ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมิ.ย. ของจีน ยุโรป และอังกฤษ  รวมถึงตัวเลขยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ