“ทรีนีตี้” ชี้เงินเฟ้อ กำหนดทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกเดือนก.ค.

04 ก.ค. 2565 | 13:37 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2565 | 20:42 น.

จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯ 13 ก.ค. ส่วนไทยถ้าพุ่งเกิน 7% กดดัน กนง.ขึ้นดอกเบี้ย เหตุดอกเบี้ยแท้จริงห่างกันเกินไป ฉุดค่าบาทอ่อน แนะรอเข้าซื้อแนวรับแรก ที่บริเวณดัชนี 1500-1530 จุด

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือนกรกฏาคม 2565 ว่า คาด SET Index ในเดือนกรกฏาคมซึ่งอยู่ในช่วงแรกของไตรมาสที่ 3 จะอยู่ในโหมดแกว่งตัวซึมๆ ต่อไป จากรายงานตัวเลขเงินเฟ้อที่น่าจะยังออกมาเติบโตสูงในระยะสั้น ส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆ ยังคงจำเป็นต้องใช้ความ Aggressive ในการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไป
 

ทั้งนี้ เมื่อมาประกอบกับความกังวลใจทางด้านเศรษฐกิจโลกที่อาจเข้าสู่ภาวะชะลอตัวมากขึ้น โดยเฉพาะทางฝั่งสหรัฐฯและยุโรป ทำให้เราอาจเริ่มเห็นการโยกย้ายเม็ดเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นที่เรามองว่าน่าสนใจสำหรับการ Overweight ตลอดทั้งไตรมาส 3 ยังคงได้แก่พันธบัตรระยะยาว โดยเฉพาะทางฝั่งของสหรัฐฯที่มองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปัจจุบันได้มีการ Price in ประเด็นการเข้มงวดนโยบายการเงินของ Fed ไปมากแล้ว

 

ในส่วนของภาพ SET Index นั้น ต้องบอกว่าเป็นดัชนีที่มีค่าความผันผวนต่ำอย่างมากในช่วงหลัง จนทำให้กรอบการแกว่งตัวแคบตามไปด้วย และเป็นตลาดที่มีทิศทางอิงอยู่กับนักลงทุนต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทุกวันนี้เป็นกลุ่มนักลงทุนที่ครองสัดส่วนการมีส่วนร่วมในตลาดหุ้นไทยไปแล้วถึง 50%
 

ด้วยความสำคัญของ Fund flow ที่ค่อนข้างมากนี้ การอ่านทิศทางของนักลงทุนต่างชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งหากวิเคราะห์ไปกับทิศทางของค่าเงินบาทด้วยแล้วนั้น ประเมินว่าในเดือนก.ค.จะยังไม่เห็น Turning point ของทั้ง 2 ตัวแปรดังกล่าวแต่อย่างใด
 

สอดรับกับรายงานตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนพ.ค.ล่าสุดที่ออกมาขาดดุลทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งที่ระดับ 3.7 พันล้านเหรียญฯ จนทำให้ล่าสุดบาทกลับมาเป็นสกุลเงินในเอเชียที่อ่อนค่ามากที่สุดอีกครั้งนับตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

สำหรับปัจจัยสำคัญที่สุดที่เรามองว่าจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือนนี้ก็คือรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯที่จะออกมาในวันที่ 13 ก.ค. ซึ่งจะมีผลกระทบสำคัญต่อไปยังคาดการณ์ดอกเบี้ย Fed ในตลาด และการประชุม FOMC ในวันที่ 26-27 ก.ค.
 

ส่วนรายงานเงินเฟ้อของไทยก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยจะออกมาในวันที่ 7 ก.ค. หากออกมาขยายตัวสูงเกินกว่า 7% จะยิ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแท้จริงระหว่างเรากับสหรัฐฯถูกทิ้งห่างมากขึ้นไปอีก ซึ่งจะกระทบกับค่าเงินบาทให้อ่อนค่าต่อไปได้ และน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธปท.จำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในรอบถัดไปอย่างแน่นอน


นายณัฐชาต กล่าวว่า ในเชิงกลยุทธ์ เรายังคงแนะนำใช้การตั้งรับการเข้าซื้อ โดยยังคงมองจุดแนวรับแรกที่บริเวณดัชนี 1500-1530 จุด ส่วนแนวรับสำคัญในไตรมาส 3 มองไปยังบริเวณดัชนี 1460-1500 จุด ซึ่งจะทำให้ภาพ SET Index กลับมามีความน่าสนใจอย่างมากในเชิง Valuation จากทั้งมาตรวัด PBV, PE, และ EYG
 

ทั้งนี้ หากต้องถือครองหุ้นในช่วงนี้จริง มองว่าจำเป็นที่จะต้องเน้นไปยังกลุ่ม Defensive ซึ่งสามารถทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อไป ไม่ว่าจะเป็น Healthcare (BDMS) / Consumer Staples (CPALL) / Utilities (GPSC, RATCH, WHAUP) / ICT (ADVANC) ส่วนกลุ่มอื่นๆที่น่าสนใจสำหรับการ Selective ได้แก่ กลุ่มบริหารหนี้ (JMT) กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า (CPF) กลุ่มเปิดเมือง/เปิดประเทศที่ยังคง Laggard (OR) และกลุ่มธนาคารที่ปลอดภัย (BBL)