ทำความรู้จัก Prize Bond ตราสารหนี้ลุ้นรับโชค

01 ก.ค. 2565 | 05:05 น.

คนที่ซื้อหวยหรือลอตเตอรี่ก็หวังจะถูกรางวัลใหญ่ แต่ถ้าไม่ถูกรางวัล เงินที่ซื้อก็เท่ากับหายวับ บางคนจึงนิยมซื้อสลากออมสินที่มีโอกาสได้ลุ้นรางวัล แล้วยังได้รับดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นคืน แต่รู้ไหมว่าการลงทุนในตราสารหนี้บางประเภทก็มีโอกาสได้ลุ้นรางวัลเหมือนกัน

ในต่างประเทศ มีตราสารหนี้ชนิดหนึ่งเรียกว่า Prize Bond ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนชอบเสี่ยงโชค โดย Prize Bond จะมีการสุ่มแจกรางวัลให้กับผู้ถือตราสารหนี้เป็นประจำตามรอบเวลาที่กำหนด เช่น ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกไตรมาส ออกโดยหน่วยงานรัฐเพื่อส่งเสริมการออมของประชาชนและนำเงินที่ได้ไปลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐ ในสหราชอาณาจักรจะเรียก Prize Bond ว่า Premium Bond และในประเทศนิวซีแลนด์เรียกว่า Bonus Bond

 

Prize Bond จะขายที่ราคาหน้าตั๋วและไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย โดยนักลงทุนจะได้ลุ้นรางวัลตามรอบเวลาที่กำหนดตลอดอายุของ Prize Bond ถ้านักลงทุนยิ่งซื้อ Prize bond หลายหน่วยก็จะยิ่งมีโอกาสถูกรางวัลมากขึ้น ดังนั้นเพื่อกระจายโอกาสการถูกรางวัลให้แก่นักลงทุน จึงมีการกำหนดมูลค่าเงินลงทุนใน Prize Bond ที่นักลงทุนสามารถซื้อได้ Prize bond มีหลายรุ่นอายุให้เลือกยาวไปจนถึงไม่มีกำหนดอายุ ทั้งแบบที่ขายคืนได้ และแบบขายคืนไม่ได้ที่ต้องถือจนกว่าจะครบกำหนดอายุจึงจะได้รับเงินต้นคืน นักลงทุนสามารถลุ้นรางวัลไปได้เรื่อยๆ เงินรางวัลของ Prize Bond ที่สุ่มแจกมีหลายรูปแบบ เช่น รางวัลเดียวเป็นเงินก้อนใหญ่ หรือหลายรางวัลลดหลั่นกันไปเหมือนลอตเตอรี่ รางวัลที่ 1 และรางวัลที่ 2 จนถึงรางวัลสุดท้ายที่ไม่กี่ร้อยบาท

ทำความรู้จัก Prize Bond ตราสารหนี้ลุ้นรับโชค

 

 

ตัวอย่าง Prize Bond ของ UK ออกครั้งแรกเมื่อปี 1956 มีชื่อเรียกว่า Premium Bond ที่ออกโดยธนาคารออมทรัพย์ของรัฐ (National Savings and Investments :NS&I) ปัจจุบันมีผู้ถือทั้งหมด 23 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าคงค้าง 58 พันล้านปอนด์ หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท นักลงทุนสามารถขายคืน Premium Bonds ได้ตลอดเวลาและจะได้เงินคืนเท่ากับราคาหน้าตั๋วที่จ่ายไป กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 25 ปอนด์และลงทุนได้ไม่เกิน 50,000 ปอนด์ต่อคน ซึ่ง 1 ปอนด์จะมีค่าเท่ากับ Premium Bond 1 หน่วย นักลงทุนต้องถือ Prize Bond อย่างน้อย 1 เดือนก่อนถึงจะมีสิทธิลุ้นรางวัล โดยในแต่ละเดือนระบบจะทำการสุ่มตัวเลข หากนักลงทุนถือ Premium Bond ที่มีหมายเลขกำกับตรงกับที่มีการสุ่ม ก็จะได้รับรางวัล โอกาสในการถูกรางวัลเท่ากับ 1 ต่อ 24,500 มีรางวัลทั้งหมดเกือบ 4 ล้านรางวัลต่องวด รางวัลที่ 1 มีมูลค่า 1 ล้านปอนด์ และรางวัลสุดท้ายมีมูลค่า 25 ปอนด์ ที่สำคัญ ทุกรางวัลได้รับการยกเว้นภาษี

 

Prize Bond ในต่างประเทศได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างต่ำ การซื้อ Prize Bond จะทำให้มีโอกาสลุ้นผลตอบแทนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ในประเทศไอร์แลนด์และอังกฤษยังอนุญาตให้นักลงทุนสามารถซื้อ Prize Bond ให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปีได้ ประชาชนจึงนิยมซื้อ Prize Bond ให้เป็นของขวัญเด็กแรกเกิด ที่ถือว่าเป็นของขวัญที่มีมูลค่ามาก เพราะมีสิทธิลุ้นรางวัลไปได้เรื่อยๆ หรือจะขายเป็นเงินก็ได้รับเงินคืนตามราคาหน้าตั๋ว ทั้งนี้หากผู้ลงทุนไม่ถูกรางวัลติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะทำให้เงินลงทุนไม่เติบโต เท่ากับการเสียอำนาจการซื้อตามอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น

 

ในภูมิภาคอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ได้ทำการออก Prize Bond เป็นครั้งแรกเมื่อต้นปี 2020 มีชื่อเรียกว่า Premyo Bond เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออมเงินและนำเงินที่ได้จากการออกมาใช้ในโครงการภาครัฐ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก สามารถขายได้ถึง 4.961 พันล้านเปโซ สูงกว่าวงเงินที่กำหนดไว้เดิมที่ 3 พันล้านเปโซ

 

สำหรับในประเทศไทย ยังไม่มีการออก Prize Bond แต่สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นสลากออมสิน หรือสลาก ธกส. ซึ่งก็ถือเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับการออมเงินที่ยังสามารถลุ้นรับโชคได้ อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรแบ่งเงินออมมาลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยความเสี่ยงอยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

ที่มา :  สมาคมตราสารหนี้ไทย