มองอนาคตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย

08 มิ.ย. 2565 | 18:38 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2565 | 01:38 น.
530

มองอนาคตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย :คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ โดย วรธันย์ ตั้งไพศาลสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

คงไม่มีใครคาดคิดว่า สินทรัพย์ที่เกิดขึ้นใหม่อย่าง สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) จะเปลี่ยนรูปโฉมของโลกการเงินได้ขนาดนี้ โดยขนาดของตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกในปี 2022 มีมูลค่าสูงถึง 60.06 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าจากปี 2019 มูลค่าที่เติบโตอย่างมหาศาลนั้น ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมามากมาย เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Exchange) / นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Broker) / ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Dealer)

 

การเติบโตอย่างรวดเร็วนี้เองทำให้เป็นที่จับตามองว่า ธุรกิจเหล่านี้จะเป็น disruption ลูกใหม่ของภาคการเงินและการลงทุนหรือไม่ อย่างที่ได้เห็นกันในหลายอุตสาหกรรมว่า พัฒนาการของเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้ธุรกิจเดิมที่ดำเนินการในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เช่น วงการโรงแรม พาหนะ ภาพยนตร์และเพลง

  • ปีแห่งธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ปีที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งความรุ่งโรจน์ของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยอย่างแท้จริง DA Exchange ที่เป็นเจ้าใหญ่ในตลาดของประเทศออกมาประกาศตั้งแต่กลางปีที่แล้วว่า สามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาลจากค่าธรรมเนียมการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ทั้งยังมีฐานลูกค้าที่เติบโตขึ้นอย่างมากจากจำนวนบัญชีซื้อขายที่เกิน 2 ล้านบัญชี (สำนักงาน ก.ล.ต. วันที่ 6 พ.ค. 65) 

 

บริษัทในกลุ่มของแบงก์ก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยพร้อมใจกระโดดเข้ามาร่วมเล่นในตลาดด้วย อันจะเห็นได้จากข่าวในสื่อสาธารณะที่ออกมาว่าบริษัทในกลุ่มแบงก์หลายแห่งมีความสนใจที่จะประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยได้ไปขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจประเภท DA Exchange / Broker และ ICO portal (ผู้ให้บริการเสนอขายโทเคนดิจิทัล) รวมทั้ง ได้เปิดให้บริการ NFT e-marketplace เพื่อเป็นช่องทางให้คนซื้อขาย NFT งานศิลปะอีกด้วย 

จากแนวโน้มนี้เอง ทำให้แบงก์ชาติซึ่งเป็นผู้ดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงินและระบบการเงินโดยรวม ได้มีการออกแถลงข่าวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อสื่อสารถึงแนวทางการให้กลุ่มแบงก์สามารถทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้

 

อย่างไรก็ดี แบงก์ชาติต้องการเห็นการลงทุนแบบรอบคอบและค่อยเป็นค่อยไป โดยจะจำกัดการลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนของกลุ่มแบงก์ รวมถึงจะกำหนดหลักเกณฑ์การดูแลความเสี่ยงและการดูแลผลกระทบในมิติต่าง ๆ ด้วย ภายใต้หลักการที่ต้องการให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมกับการจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้าน  โดยจะเห็นได้ว่าแบงก์ชาติพยายามจะยกระดับการกำกับดูแลในหลายด้าน เช่น การกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล และการคุ้มครองลูกค้า ให้รองรับกับทิศทางการมุ่งไปยังธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของกลุ่มแบงก์นั้นเอง

 

  • ความท้าทายของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

หากดูแนวโน้มในปีนี้อาจจะกลายเป็นปีที่ท้าทายของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลก็เป็นได้ จากสถานการณ์ตั้งแต่ต้นปีที่ราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลลดลงอย่างหนัก และปริมาณการซื้อขายใน DA Exchange ลดลง (สำนักงาน ก.ล.ต. วันที่ 6 พ.ค. 65) รวมทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอาจไม่คึกคักเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งหากมองไปในอนาคต ของกลุ่มแบงก์ที่จะทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อาจจะไปได้  2 ทิศทาง คือ

 

  • ทิศทางที่ 1 : ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอาจจะหยุดชะงัก กลุ่มแบงก์อาจจะไม่ได้พัฒนาหรือขยายธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่อ เนื่องจากตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นขาลงอย่างหนัก ทำให้ผู้ลงทุนเกิดผลขาดทุนและออกจากตลาด และสินทรัพย์ดิจิทัลอาจไม่เป็นที่สนใจอีกเป็นเวลานาน ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2018 ที่ผ่านมา แต่ตลาดก็สามารถกลับมาบูมได้อีกครั้งจากการพัฒนาต่อยอดสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่องจนกลายไปเป็น Decentralized Finance (DeFi) หรือบริการทางการเงินที่ไร้ศูนย์กลาง

 

 

  • ทิศทางที่ 2 : มีการพัฒนาต่อยอดธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในกลุ่มแบงก์ต่อไป เช่น การทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้ครบวงจรเพื่อให้ลูกค้ามาใช้บริการได้ครบจบในที่เดียว ซึ่งหากเป็นไปได้ก็อาจขยายบริการไปยังต่างประเทศด้วย หรือนำ Metaverse มาเป็นช่องทางในการให้บริการอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้ลูกค้าได้ประสบการณ์การใช้งานใหม่ ๆ ผ่านทาง Avatar ของลูกค้า โดยที่ตัวลูกค้าไม่จำเป็นต้องลุกออกจากบ้านด้วยซ้ำ หรืออาจจะถึงขั้นว่ากลุ่มแบงก์พยายามพัฒนา DeFi ขึ้นมาให้บริการเอง ทั้งที่ในตอนแรกทุกคนมองว่าเป็นบริการทางการเงินรูปแบบใหม่นี้ที่จะมาฆ่ากลุ่มแบงก์ด้วยซ้ำไป

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นในทิศทางไหนผู้กำกับดูแลของประเทศไทยคงต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด โดยควรคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ในมุมว่าหากพัฒนาต่อไปจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งลูกค้า ภาคการเงิน และระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างไร และในมุมของความเสี่ยงที่หากไม่จัดการให้ดีก็อาจจะส่งผลกระทบถึงเสถียรภาพของระบบการเงินได้เลยทีเดียว

 

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังทำให้โลกการเงินของเราเปลี่ยนไป แต่จะส่งผลกระทบมากน้อยขนาดไหน หรือในอนาคตอาจจะมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา disrupt สินทรัพย์ดิจิทัลอีกทีก็เป็นได้ ใครจะรู้… ต้องติดตามกันต่อไป

                                                                              

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.