ธนารักษ์ จ่อร่อน จม.แจง “วงษ์สยามฯ” เซ็นสัญญาท่อส่งน้ำอีอีซี ล่าช้า

03 มิ.ย. 2565 | 08:55 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2565 | 16:07 น.

ธนารักษ์ เตรียมส่งหนังสือชี้แจง “วงษ์สยามฯ” ในฐานะผู้ชนะประมูล กรณีล่าช้าเซ็นสัญญาผู้บริหารโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี ชี้ วงษ์สยามฯ มีสิทธิฟ้องร้องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าได้

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์เตรียมทำหนังสือถึง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เพื่อชี้แจงถึงสาเหตุของความล่าช้าในการลงนามสัญญาการดำเนินโครงการท่อส่งน้ำหลักในภาคตะวันออก หรืออีอีซี กับบริษัท หลังจากที่บริษัท ได้ส่งหนังสือถึงตน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเร่งรัดให้กรมฯ ดำเนินการเซ็นสัญญา

ทั้งนี้ ในหนังสือที่ วงษ์สยามฯ ส่งมา ระบุว่า หากกระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ไม่เร่งดำเนินการเซ็นสัญญากับบริษัท ในฐานะเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการดังกล่าว ทางบริษัทจะได้รับความเสียหายในเชิงธุรกิจ และ อาจจะดำเนินการฟ้องร้องทุกฝ่ายเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความเสียหาย

โดยอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรณีที่วงษ์สยามฯ ระบุว่า อาจจะมีการฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น ถือเป็นสิทธิที่วงษ์สยามฯ สามารถทำได้ เพราะบริษัทได้รับความเสียหาย ทั้งในเรื่องของหลักประกันในการยื่นซองประมูล การทำแบงก์การันตี ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนบริษัท รวมถึงความเสียหายของธุรกิจจากความล่าช้าที่เกิดขึ้นในการดำเนินโครงการด้วย

 

“วงษ์สยามก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องได้ เพราะได้รับความเสียหายจากความล่าช้าที่เกิดขึ้นในการลงนามสัญญา และกระทบต่อระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ในฐานะผู้ชนะการประมูล ซึ่งหากวงษ์สยามฯ มีการฟ้องร้องจริง เราก็ต้องแก้ไขต่อไป” นายประภาศ กล่าว

 

สำหรับสาเหตุความล่าช้าในการลงนามในสัญญาเป็นผู้บริหารโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี นั้น เนื่องจากสังคมยังมีข้อสงสัยกรณีการเปิดประมูล กระทรวงการคลังจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความชัดเจนและให้สังคมได้คลายสงสัย

 

ซึ่งขณะนี้ผลสอบได้ออกมาแล้ว โดยคณะกรรมการฯ ได้ส่งเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาแล้ว โดยอยู่ระหว่างรอคำสั่งว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

สำหรับโครงการท่อน้ำอีอีซี ปัจจุบัน บริษัท อีสท์วอเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ แต่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2566  กรมธนารักษ์ จึงได้เปิดประมูล เพื่อหาผู้ดำเนินโครงการต่อ โดยทางอีสท์วอเตอร์ได้เสนอผลตอบแทนให้กับรัฐต่ำกว่า บริษัท วงษ์สยามฯ ทำให้บริษัท วงษ์สยามฯ เป็นผู้ชนะการประมูลในราคา 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีอายุการดำเนินโครงการ 30 ปี