Net Zero Emissions ภารกิจรักษ์โลก ลงทุนตามแนวทาง ESG

26 พ.ค. 2565 | 17:15 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2565 | 00:15 น.

Net Zero Emissions ภารกิจรักษ์โลก ลงทุนตามแนวทาง ESG: คอลัมน์ มันนี่ ดี ไอวาย โดยคุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ในการรักษาสิ่งแวดล้อม คือ Net Zero Emissions ด้วยเป้าหมายหลัก คือ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก จะต้องไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม (Pre-industrial Level) เพื่อป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) ทั้งนี้ ปัจจุบันอุณหภูมิโลก เพิ่มขึ้นราว 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว

 

ดังนั้น ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) จึงกำหนดเป้าหมายระยะยาว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ภายในปี 2030 และเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 ที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรืออีกนัยหนึ่ง ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศ มีความสมดุลกับปริมาณที่ถูกดูดซับออก

ในส่วนของอุตสาหกรรมการบิน ได้มีการวาง Roadmap เกี่ยวกับ Net Zero ที่ชัดเจน เมื่อการประชุมประจำปีครั้งที่ 77 ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือ IATA มีมติเห็นชอบแนวทางความยั่งยืน โดยประเมินว่า ในปี 2050 จะมีผู้โดยสารทางอากาศ มากถึง 1 หมื่นล้านคน แปลว่าหากอุตสาหกรรมการบินยังคงดำเนินธุรกิจแบบเดิม จะมีปริมาณ CO2 ปลดปล่อยออกมาในชั้นบรรยากาศมากถึง 1.8 พันล้านตัน

Net Zero Emissions ภารกิจรักษ์โลก ลงทุนตามแนวทาง ESG

เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ทาง IATA จึงกำหนดแนวทาง คือ ตั้งเป้าหมายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels หรือ SAF) ราว 5.2% ของการใช้เชื้อเพลิงทั้งหมด และจะเพิ่มสัดส่วนนี้ ขึ้นไปถึง 65% ในปี 2050 เนื่องจากเชื้อเพลิงประเภท SAF (สกัดจากวัตถุดิบชีวภาพ) สามารถลดการปล่อย CO2 ได้ต่ำถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันอากาศยานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Jet Fuel)  แต่ความท้าทายคือ ราคาของ SAF สูงกว่าน้ำมันอากาศยาน 

นอกเหนือจากการใช้ SAF เพิ่มขึ้นแล้ว IATA ยังกำหนดวิธีการอื่นร่วมด้วย เช่น การพัฒนาเครื่องยนต์ และโครงสร้างเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ 

 

นอกจากนี้ ภาคเอกชนในหลายอุตสาหกรรมก็มีการปรับกลยุทธ์องค์กรระยะยาวเพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายสู่ Net Zero เช่น บริษัทพลังงานระดับโลก Shell หรือ BP มีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทาง Net Zero ด้วยการเพิ่มเงินลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือก อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม เชื้อเพลิงชีวภาพ ไฮโดรเจน เป็นต้น

 

ในระดับมหภาค เม็ดเงินลงทุนจะหลั่งไหลเข้าสู่การลงทุนโครงการพลังงานสะอาดมากขึ้น โดย International Energy Agency (IEA) ประเมินว่า ภายในปี 2030 การลงทุนด้านพลังงานสะอาด จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าของช่วงปี 2016-2020 ช่วยหนุน GDP โลก โตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.4% ต่อปี ในช่วงปี 2021-2030 ขณะที่ McKinsey คาดการณ์ว่า การลงทุนด้านพลังงานทดแทน จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 4% ต่อปี จนถึงปี 2035 คิดเป็นสัดส่วนราว 37% ของการลงทุนด้านพลังงานทั้งหมดของโลก ในระยะ 15 ปีข้างหน้า

 

เชื่อมโยงมาที่ภาพของการลงทุน เราเชื่อว่า Net Zero เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนความสำคัญของหลักการ ESG (Environmental, Social, and Governance) โดยเฉพาะตัว E หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของ ESG โดยปัจจุบัน นักลงทุนสถาบันทั้งต่างประเทศและไทย นำเกณฑ์ด้าน ESG มาใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก KPMG บ่งชี้ว่า มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ของผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เกี่ยวกับ ESG มีอัตราการขยายตัวที่เร่งขึ้นในช่วง 2 ปีหลัง (ปี 2019-2021) เทียบกับค่าเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2015-2021 แทบทุกภูมิภาคทั่วโลก

 

แรงขับเคลื่อนอีกประการหนึ่ง คือ ผู้บริโภค หันมาใส่ใจกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการผลิตหรือการใช้สินค้าและบริการ สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ นั่นทำให้ภาคธุรกิจ มีการปรับตัวเพื่อให้สินค้า หรือบริการของบริษัท ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม

 

ด้านผู้ลงทุน ก็มีความมั่นใจมากขึ้นว่าหุ้นหรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจตามแนวทางของ ESG จะมีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบลดลง, มีโอกาสน้อยลงที่การดำเนินงานของบริษัทจะสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้  การกำกับดูแลและตรวจสอบภายในองค์กรที่ดี จะทำให้การบริหารทรัพยากรของบริษัท เช่น เงินทุน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการลงทุนแบบยั่งยืนในระยะยาว