“สินมั่นคง”หนี้สินรวมสูงกว่าสินทรัพย์รวม 27,226 ล้านบาท

24 พ.ค. 2565 | 02:28 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2565 | 20:27 น.

“สินมั่นคง SMK” หนี้สินรวมสูงกว่าสินทรัพย์รวมกว่า 2.72 หมื่นล้านบาท หลังไตรมาสแรกขาดทุนสุทธิกว่า 2.94 หมื่นล้านลดลง 16,794.48% กรมธรรม์คุ้มครอง COVID-19 ยังมีผลบังคับอยู่ประมาณ 1.3 ล้านกรมธรรม์

บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK รายงานผลดำเนินงานและงบการเงินไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัทมีผลกำไร (ขาดทุน) สุทธิ สำหรับงวด 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 และ 2564 จำนวน 29,421.37 ล้านบาท และ 176.23 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราลดลง 16,794.48%

 

ทั้งนี้ รายได้รวมของบริษัทในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เท่ากับ 2,472.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.32 ล้านบาท จากช่วงระยะเดียวกันของปีก่อน 0.79%
 

สาเหตุจาก

1.เบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้ในไตรมาสนี้เท่ากับ 2,410.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.21 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.00 เป็นผลมาจากสำรองเบี้ยประกันภัยบวกกลับที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนจำนวน 566.02 ล้านบาท

 

2 รายได้และกำไรจากการลงทุนลดลง 17.54 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.64 เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลที่ลดลง 51.68 ล้านบาท คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 73.38 แต่ ผลขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรมมีจำนวนลดลง 38.20 ล้านบาท คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 99.99 เนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2564 มีผลขาดทุนจากสัญญา FX
 

“สินมั่นคง”หนี้สินรวมสูงกว่าสินทรัพย์รวม 27,226 ล้านบาท


ด้านค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 31,624.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29,388.06 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1,313.81 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เหตุจากการสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดในไตรมาสที่ 1 เท่ากับ 6,374.52 ล้านบาท

 

และค่าสินไหมทดแทน ในไตรมาสที่ 1 เท่ากับ 24,571.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,166.89 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1,649.03 คิดเป็นค่าสินไหมทดแทนอื่นๆ 1,311.03 ล้านบาท และสินไหมทดแทนโควิด 23,260.74 ล้านบาท

 

เนื่องจากผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ผลกำไรประกันภัยไตรมาสแรก มีผลขาดทุนจำนวน 29,187.25 ล้านบาท เนื่องจากรับประกันภัยโควิด ขาดทุน จำนวนเงินสูงถึง 29,479.68 ล้านบาท

 

ส่วนประกันภัยอื่นๆ มีกำไรจำนวน 292.42 ล้านบาท โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2564 นั้น มีค่าสินไหมทดแทนโควิดเพียง 19.08 ล้านบาท

 

 

สำหรับรายงานการสอบทานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตระบุว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 บริษัทมีประมาณการหนี้สินจากสัญญาประกันภัยจำนวน 35,146 ล้านบาท ประกอบด้วย สำรองค่าสินไหมทดแทนจำนวน 23,855 ล้านบาท สำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้จำนวน 4,604 ล้านบาท

 

และสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดจำนวน 6,375 ล้านบาท และยังมีข้อมูลความอ่อนไหวของความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดของกรมธรรม์ที่คุ้มครองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19) ที่ระยะเวลาคุ้มครองส่วนใหญ่สิ้นสุดในเดือนเมษายน 2565

 

ทั้งนี้ ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นของกรมธรรม์ COVID-19 ทำให้เกิดผลขาดทุนสุทธิในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จสำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 จำนวน 29,421 ล้านบาท และ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีหนี้สินรวมสูงกว่าสินทรัพย์รวมจำนวน 27,226 ล้านบาท ทำให้สำรองเงินกองทุนของบริษัทลดลงและต่ำกว่าเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยงที่กำหนดไว้

 

นอกจากนี้บริษัทมีจำนวนกรมธรรม์ที่คุ้มครองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังมีผลบังคับอยู่ประมาณ 1.3 ล้านกรมธรรม์ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 โดย 99% ของกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ครบกำหนดอายุกรมธรรม์ภายในเดือนเมษายน 2565 

 

ขณะที่ สินไหมเฉลี่ยต่อเคลมที่ใช้คาดการณ์สินไหม COVID-19 ในอนาคตประมาณ 85,000 บาท ซึ่งลดลงจากกรมธรรม์เจอ-จ่าย-จบที่มีทุนประกัน 100,000 บาท ซึ่งลดลงจากการสิ้นสุดความคุ้มครองหรือได้เคลมค่าเสียหายแล้ว
 

อย่างไรก็ตาม บริษัทกำลังประสบปัญหาสภาพคล่องและจำเป็นต้องจัดหากระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้เพียงพอต่อความต้องการด้านเงินทุนหมุนเวียนและภาระผูกพันในการดำเนินงาน