หมีเมกามาแว้ว

21 พ.ค. 2565 | 19:41 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ค. 2565 | 19:48 น.
2.2 k

วีไอ"ดร.นิเวศน์"มองว่าตลาดหุ้นอเมริกาในรอบนี้เข้าข่ายเป็น"ตลาดหมี" แล้ว โดยเฉพาะตลาดหุ้นแนสแด็กที่เป็นตัวแทนของหุ้นไฮเท็คและเป็นหุ้น "เก็งกำไร" ส่วนตลาดหุ้นไทย 9 ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่ไปไหนเลย เมื่อ"ไม่เคยเป็นกระทิง" "หมี"ก็มักไม่มาเยือน

                                                              หมีเมกามาแว้ว

 

ดัชนีตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตกกันระเนระนาดอานิสงค์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนและสาเหตุอื่น ๆ  อีกหลายเรื่องที่ประดังกันเข้ามาพร้อมกันจนบางคนบอกว่าเป็นเหตุการณ์  “Perfect Storm” หรือเรื่องร้ายที่เกิดขึ้นประเภท “หนึ่งในร้อยปี” 

 

การตกลงมาของตลาดหุ้นอเมริกาในรอบนี้ผมคิดว่าเข้าข่ายเป็น “ตลาดหมี” แล้วโดยเฉพาะในตลาดหุ้นแนสแด็กที่เป็นตัวแทนของหุ้นไฮเท็คและเป็นหุ้น “เก็งกำไร” สูง  ส่วนหุ้น S&P ซึ่งเป็นหุ้นที่เป็นตัวแทนของทั้งประเทศนั้น “หมีก็รออยู่ที่หน้าประตู” แล้ว  ในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ของประเทศอย่างดาวโจนส์ซึ่งเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ของประเทศและของโลกนั้น ไม่ช้าก็เร็วก็คงจะเป็น “ตลาดของหมี” ในที่สุด

 

คำถามสำคัญสำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะ VI ก็คือ  แล้วตลาดหุ้นไทยจะกลายเป็นหมีตามไปหรือไม่?  เราควรจะทำอย่างไรกับหุ้นและการลงทุนของเรา  ลองมาวิเคราะห์ภาวะตลาดหุ้นกัน  มองในแง่ของประวัติศาสตร์ดัชนีตลาดหุ้นของหลาย ๆ ประเทศ ไม่ต้องพูดถึงเหตุการณ์หรือเหตุผลมากมายที่มีคนพูดถึงกันมากแล้ว

 

อ่านเพิ่มเติม  :  ตลาดปรับฐาน vs.ตลาดหมี แตกต่างกันอย่างไร

ตลาดหุ้นสหรัฐ ในช่วงตั้งแต่ปี 2009 หลังจากวิกฤติซับไพร์มที่ทำให้ดัชนีหุ้นตกลงมาประมาณ 40% นั้น  เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาตลอดจนถึงสิ้นปี 2021 โดยที่มีการ “ปรับตัว” หรือหุ้นตกหนักถึงหนักมากเป็นระยะโดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2020 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่หุ้นตกหนักถึงกว่า 30% ในช่วงเวลาสั้น ๆ  เพียง 3-4 เดือน

 

การปรับตัวขึ้นของหุ้นเป็น “ตลาดกระทิง” ตั้งแต่ปี 2009 ถึงสิ้นปี 2021 เป็นเวลาเกือบ 13 ปี นั้น  น่าจะเป็นตลาดกระทิงที่รุนแรงและยาวนานมากที่สุดครั้งหนึ่งของตลาดหุ้นอเมริกา  เพราะตลาดให้ผลตอบแทนจากดัชนีไม่รวมปันผลถึงปีละกว่า 15% แบบทบต้น  โดยที่เหตุผลที่แท้จริงของการปรับตัวขึ้นของหุ้นนั้นน่าจะเป็นเรื่องของสภาพคล่องทางการเงินที่ล้นเหลือจากการทำ QE อย่างต่อเนื่องซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงอย่างต่อเนื่องจนแทบจะเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์  เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเท่า ๆ  กันในช่วงเวลาเดียวกัน

 

เมื่อเป็นกระทิงมานานขนาดนั้น  ประวัติศาสตร์ก็มักจะบอกว่ามันจะต้องตามมาด้วย “ตลาดหมี” และนั่นก็เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2022 นี้  ที่ดัชนีหุ้นแนสดักตกลงมาอย่างต่อเนื่องถึง 28.3% นับถึงวันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม 2022  เกินกว่า 20% ที่เป็นจุดที่ยอมรับกันว่าเป็น “ตลาดหมี” แล้ว  ดัชนีหุ้น S&P ร่วงลงมา 18.7%  แม้ว่าจะยังไม่ถึงจุดแต่ดูจากทิศทางแล้วก็คงจะตามไปในไม่ช้า  เช่นเดียวกับดัชนีดาวโจนส์ที่ลดลงมา 14.6%  เหตุผลก็เพราะว่าปัจจัยที่ทำให้หุ้นตกหนักในช่วงแค่ไม่กี่เดือนนี้ยังคงดำรงอยู่ต่อไปและอาจจะมากขึ้นนั่นก็คือ สภาพคล่องทางการเงินจะลดลงเรื่อย ๆ  เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ

มองแบบคนธรรมดา  สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้และช่วงต่อไปก็คือ “การเก็งกำไร” ของนักลงทุนคงจะหดหายไปมากและจะลดลงเรื่อย ๆ เพราะเงินหายากขึ้นและต้นทุนสูงขึ้น  นั่นทำให้หุ้นและตราสารการเงินอื่น ๆ  รวมไปถึงทรัพย์สินต่าง ๆ  เช่น เหรียญคริปโตที่มีการเก็งกำไรสุดยอดนั้น  ถูกขายทิ้งและทำให้ราคาลดลงอย่างหนัก  หุ้นขนาดใหญ่ที่มั่นคงนั้นถูกขายน้อยกว่า  การตกลงมาก็น้อยกว่า  และแทบจะไม่มีทรัพย์สินกลุ่มไหนเลยที่มีราคาเพิ่มขึ้น

 

ตลาดหุ้นของจีนนั้นดูเหมือนจะตามตลาดหุ้นสหรัฐ  ดัชนีฮั่งเส็งซึ่งเป็นตลาดหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ตกลงมาจากต้นปีประมาณ 11%  ดัชนีเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศจีนตกลงมา 13.4% และดัชนีเซินเจิ้นซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นเท็คจีนตกลงมา 22.6% เข้าข่ายเป็นตลาดหมีไปเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม  ดัชนีตลาดหุ้นจีนในช่วงประมาณ 13 ปี หลังวิกฤติซับไพร์มนั้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นแบบกระทิงแบบอเมริกาและให้ผลตอบแทนแค่ปีละ 4-5% แบบทบต้น  และว่าที่จริง  ตลาดหุ้นจีนนั้น “แน่นิ่ง” มากว่า 10 ปีเป็น “ทศวรรษที่หายไป” ไปแล้ว  ซึ่งก็ตรงกับช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้รับการแต่งตั้งในช่วงปลายปี 2012 พอดี

 

ตลาดหุ้นเวียดนามนั้นดูเหมือนว่าจะตามตลาดหุ้นสหรัฐแทบทุกอย่างนั่นก็คือ ดัชนีปรับตัวลดลงถึง 17.3% จากต้นปีใกล้เคียงกับดัชนี S&P มาก นอกจากนั้น  ในช่วงก่อนหน้าคือจากปีวิกฤติซับไพร์มจนถึงสิ้นปี 2021 ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปแบบ “กระทิงดุ’’ ให้ผลตอบแทนแบบทบต้นปีละ 14.8% เป็นเวลาถึง 13 ปี  พอ ๆ  กับตลาดหุ้นสหรัฐ  สิ่งที่แตกต่างจากสหรัฐก็คือ  ปัจจัยที่ทำให้หุ้นตกรอบนี้ของเวียดนามนั้นน่าจะเกิดจากการจับคนปั่นหุ้นและฉ้อโกงของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนซึ่งทำให้นักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักเก็งกำไรส่วนบุคคลตกใจและเทขายหุ้นซึ่งก็ไปกระทบถึงการบังคับขายหุ้นที่มีการใช้มาร์จินจำนวนมากที่เกิดขึ้นในช่วงเร็ว ๆ  นี้

 

ตลาดหุ้นไทยนั้นถ้าดูจากดัชนีตลาดดูเหมือนว่าจะไม่ได้เป็นตลาดหมีเลย ดัชนีตั้งแต่ต้นปีลดลงแค่ประมาณ 2.1% อย่างไรก็ตาม  ถ้ามองภาพเล็กลงมาโดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ที่เน้นเล่นเหรียญดิจิทัลและหุ้นที่เก็งกำไรรุนแรงก็จะพบว่าจำนวนมากขาดทุนหนัก  โดยเฉพาะเหรียญดิจิทัลที่บางตัวนั้น “ล่มสลาย” ขาดทุนเกิน 90% และจำนวนมากขาดทุนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น  นอกจากนั้น คนที่กระจายการลงทุนไปลงใน “หุ้นต่างประเทศ” ซึ่งส่วนใหญ่ก็คืออเมริกา  จีนและเวียดนาม  ต่างก็  “เจ็บหนัก” ไปตามกัน

 

การที่หุ้นไทยแทบไม่ได้ตกลงมาเลยนั้น  ถ้ามองจากประวัติศาสตร์ก็อาจจะบอกว่าเป็นเพราะในช่วงประมาณ 9 ปีที่ผ่านมานั้น  ดัชนีตลาดหุ้นไทยแทบจะไม่ไปไหนเลย  ใกล้จะเป็น “ทศวรรษที่หายไป” อยู่แล้ว  ดังนั้น  เมื่อ “ไม่เคยเป็นกระทิง” ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา  “หมี” ก็มักจะไม่มาเยือน 

 

ผมก็ไม่รู้ว่าตลาดหุ้นไทยจะเหมือนประเทศไทยไหมที่ว่านับวันเราจะไม่ค่อยมีความสำคัญและก็ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับโลกเท่าไร  และดังนั้น  เราก็ไม่ตามโลกมากนัก  และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมเองก็ยังคงพอร์ตหุ้นไทยไว้อย่างเดิม  เน้นที่หุ้นแต่ละตัวเป็นหลัก