“GTG” หนุน “ภูเก็ต-เกาะเต่า” ทำ “sandbox กัญชง-กัญชา” ฟื้นท่องเที่ยวไทย

22 เม.ย. 2565 | 17:22 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2565 | 00:33 น.
566

“GTG” หนุนใช้ภูเก็ต เกาะเต่า ทำ “sandbox กัญชง-กัญชา เพื่อสันทนาการ” ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยหลังโควิด พร้อมย้ำไทยต้องปลดล็อกทุกรูปแบบ และสร้างมาตรฐานและคุณภาพตั้งแต่การปลูก หากต้องการผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมส่งออกของไทย

นายกฤษณ์ ธีรเกาศัลย์ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด หรือ GTG กล่าวในหัวข้อ “ส่องโอกาส “กัญชา-กัญชง” ไทยบนเวทีโลก” ในงานสัมมนา CANNABIS WEALTH “สูตร (ลับ) ฉบับ รวยด้วย ... กัญชา” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

 

โดยระบุว่า เมื่อไทยจะปลดล็อกกัญชา-กัญชง แล้ว ถ้าเป็นกัญชง ขอให้มีการปลดล็อกให้เป็นไปตามมาตรฐานโลก ซึ่งไทยยังปลดล็อกไม่เหมือนต่างประเทศ พร้อมยกตัวอย่างในวันนี้ประเทศในยุโรป มีการปลดล็อกและใช้ดอกกัญชาที่มีค่า THC ไม่ถึง 0.2% ในการสูบเพื่อรักษาตัวเอง หรือเพื่อทางการแพทย์ได้แล้ว ในขณะที่ไทยยังทำไม่ได้ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

พร้อมสนับสนุนกฎหมายใหม่ของไทย ที่จะให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุข สร้างแซนด์บ็อกซ์สันทนาการ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลดีทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยเพิ่มมากขึ้น และพร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมกัญชง-กัญชา เป็นตัวช่วยดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาไทยมากขึ้นในช่วงหลังโควิด

 

“เห็นด้วยและสนับสนุนกับกฎหมายที่จะให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุข สร้าง แซนด์บ็อกซ์กัญชงกัญชาสันทนาการ เพราะเชื่อว่าจะช่วยดึงให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทยมากขึ้น มองพื้นที่ คือ ภูเก็ต และเกาะเต่า เป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ และมองว่าเมื่อมีการปลดล็อกแล้ว ก็ต้องปลดล็อกให้เป็นไปตามมาตรฐานโลก ซึ่งเหลือแค่จุดนี้ที่ไทยยังปลดล็อกไม่เหมือนต่างประเทศ” นายกฤษณ์ กล่าว

 

นายกฤษณ์ ธีรเกาศัลย์ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง GTG

นายกฤษณ์ กล่าวอีกว่า ยุโรปเป็นตลาดที่มีความชัดเจนในเรื่องของการปลดล็อกการใช้กัญชง-กัญชา โดยเฉพาะประเทศเยอรมัน เพราะเป็นผู้ควบคุมกฎด้านสุขภาพของยุโรป ซึ่งมีการใช้กัญชาทางการแพทย์มาแล้ว 3-5 ปี

 

และล่าสุดช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีการประกาศให้มีการใช้กัญชาแบบสันทนาการได้ และเชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ประเทศในฝั่งยุโรปใต้ โดยเฉพาะประเทศท่องเที่ยวชายหาด เช่น สเปน ไซปรัส ก็จะเริ่มปลดล็อกให้มีการใช้แบบสันทนาการตามมา

 

ทั้งนี้ในแง่ของการส่งออก มองว่าตลาดการส่งออกเพื่อนำไปสูบมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะการส่งออกดอก แบบไม่ต้องสกัด แต่จะต้องมีมาตรฐานและคุณภาพ ตั้งแต่การปลูก จนถึงการแพ็ค หรือ มาตรฐาน GACP และมาตรฐาน EU GMP

 

ซึ่งเยอรมัน กำหนดมาตรฐานการตัดแห้ง THC ต้องมากกว่า 20% และ CBD ต้องมากกว่า 16% ดังนั้นต้องใช้วิธีการปลูก การเพาะเลี้ยงที่ทำให้ดีกว่าธรรมชาติ ถึงจะได้ตามมาตรฐานและส่งออกได้  

 

“GTG” หนุน “ภูเก็ต-เกาะเต่า” ทำ “sandbox กัญชง-กัญชา” ฟื้นท่องเที่ยวไทย

 

พร้อมยกตัวอย่าง การปลูกเมล่อน ที่จะมีการกำหนดค่าความหวาน หากค่าความหวานไม่ถึงมาตรฐานก็จะไม่สามารถส่งออกได้ หรือ สตอเบอรี่ และ องุ่น ที่คนนิยมกินของญี่ปุ่นแม้มีราคาสูง เช่น องุ่น ช่อละ 500 – 1000 บาท เพราะทุกครั้งที่กินจะได้สิ่งที่ต้องการ คือ กลิ่น และรสชาติคงที่ เพราะฉะนั้น การปลูกต้องมีมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันในไทยยังไม่มีมาตรฐาน GACP   

 

โดยมองว่าไทยมีจุดแข็ง คือ ค่าก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ถูกกว่ายุโรป 3-5 เท่า ค่าน้ำค่าไฟ และค่าแรงที่ได้เปรียบมาก รวมทั้งอุณภูมิและความชื้น ซึ่งต้นกัญชงกัญชา ต้องการอุณหภูมิ 28 องศา และความชื้นประมาณ 50% - 60% ซึ่งเหล่านี้คืออุณหภูมิของประเทศไทย และไทยยังมีน้ำที่มากพอแม้ในพื้นที่สูง ทำให้ไม่ต้องรีไซเคิลน้ำเหมือนต่างประเทศ  

 

“การปลูกไม่ใช่จะปลูกได้ง่าย หรือ หากปลูกขึ้นง่าย ก็ไม่ใช่คุณภาพที่ต้องการ ดังนั้นจึงไม่ใช่ทุกคนจะปลูกได้คุณภาพทางการแพทย์ หรือ ผู้ที่ปลูกได้คุณภาพทางการแพทย์ ก็ไม่สามารถลงไปสู้กับคุณภาพระดับฟู๊ดเกรด และหากต้องการส่งไปขายต่างประเทศ ผู้ซื้อทุกคนต้องการซื้อไปสูบ ถ้าสูบทางการแพทย์ก็ต้องมีใบรับรอง และเมื่อมาซื้อ ก็จะมีการตรวจรับสินค้า ต้องมีการสูบ ซึ่งยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายในไทยที่ยังไม่สามารถสูบได้” นายกฤษณ์ กล่าว

 

นายกฤษณ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น เมื่อจะผลักดันเป็นอุตสาหกรรมแล้ว ก็ต้องเป็นไปแบบมีความรับผิดชอบ และต้องเปิดด้วยการยอมรับว่า สามารถนำไปใช้ได้ครบทุกรูปแบบ ตามที่อุตสาหกรรมของโลกต้องการ

 

พร้อมมองว่าไทยมีดีและมีจุดแข็ง มีสูตรความเป็นไทย เมื่อปลดล็อกแล้ว ก็ต้องปลดล็อกให้ผู้ปลูกสามารถใช้ได้อย่างที่ผู้ปลูกต้องการ ผู้ผลิตก็สามารถผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานที่ตลาดโลกต้องการนำไปใช้ คือ กลิ่นต้องคงที่ effect ที่ได้ต้องคงที่