ผู้ว่าธปท.ลั่น 80ปีธปท.ยังรักษา “แก่น”ธนาคารกลาง

05 เม.ย. 2565 | 07:23 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2565 | 14:23 น.

ผู้ว่าธปท.ลั่น 80ปีธปท.ยังรักษา “แก่น”ธนาคารกลาง สร้างรากฐานระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศให้แข้มแข็งเพื่อส่งต่อรุ่นต่อไป -ระบุตอนนี้อาจเป็นฟองสบู่คริปโตจากที่เคยเกิดฟองสบู่ทิวลิป เหตุประวัติศาสตร์ยังคงซ้ำรอยเดิม

เมื่อวันที่ 4เม.ย.2565 ธปท.จัดงาน “เหลียวหลัง  แลหน้ากับผู้ว่าธปท.” โดยมีอดีตผู้ว่าธปท.เข้าร่วม 6ท่าน ประกอบด้วย ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้ว่าฯ ธปท.คนที่ 18  ดำรงตำแหน่งระหว่างเดือนกรกฎาคม 2540 – พฤษภาคม 2541  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯ ธปท. คนที่ 20 ดำรงตำแหน่งระหว่างเดือนพฤษภาคม 2544 – ตุลาคม 2549 

 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าฯ ธปท.22 ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 – กันยายน 2558  ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าฯ ธปท.คนที่ 19 ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2541 – พฤษภาคม 2544    ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. คนที่ 21 ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 – 30 กันยายน 2553  และ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯ ธปท.คนที่ 23 ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2563

ผู้ว่าธปท.ลั่น 80ปีธปท.ยังรักษา “แก่น”ธนาคารกลาง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวปิดงานเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” โดยระบุว่า ในช่วงของการฉลองครบรอบ 80ปีของธปท. จึงเล่านิทานกรีกโบราณ เรื่อง “เรือสำเภาของธีเซียส”

ธีเซียสเป็นเทพเจ้าผู้ก่อตั้งกรุงเอเธนส์ ทุกปีชาวเอเธนส์จะมีการเฉลิมฉลองเทพเจ้าอะพอลโล ในการเฉลิมฉลองนี้ ต้องใช้เรือที่เชื่อกันว่าเป็นเรือสำเภาของธีเซียสมาประกอบพิธี เรือนี้เมื่อถูกใช้ทุกปี ใบของเรือก็เสื่อมสภาพ จำเป็นต้องเปลี่ยนใบใหม่

 

เมื่อแผ่นไม้ผุพังก็ต้องเปลี่ยนไม้ใหม่ ผ่านไปหลายร้อยปี ชิ้นส่วนทุกอย่างในเรือก็ถูกเปลี่ยนไปทั้งหมด จึงมีนักปราชญ์ชาวกรีกตั้งข้อสังเกตว่า เรือลำนี้ยังเป็น “สำเภาของธีเซียส” อยู่หรือไม่

 

ถ้าเรามองรอบ ๆ ตัวเรา บางอย่างที่มีมาเป็นเวลานาน ทุกวันนี้เราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นสิ่งเดิม ขณะที่บางอย่าง แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงลักษณะไปมาก แต่ก็ยังมี “แก่น” ที่คอยร้อยเรียงตัวตนในเวลาต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ยังรักษาความเป็นตัวตนเดิมอยู่ได้

 

ธปท. ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่สามารถคง “ตัวตน” มาได้อย่างยาวนาน ในเดือนธันวาคมนี้จะครบรอบ 80 ปีที่ ธปท. ดำเนินงานมา ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ หลายอย่างเปลี่ยนไปเยอะมาก จากที่เราเคยใช้สำนักงานเก่าของธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ที่สี่พระยา ก็ย้ายมาอยู่ที่บางขุนพรหม

 

หรือแม้แต่เมื่อเรามาอยู่ที่นี่แล้ว เราก็ย้ายจากอาคารเดิม มาเป็นบริเวณอาคารใหม่ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของกระทรวงสาธารณสุข เราเคยต้องสั่งพิมพ์ธนบัตรจากต่างประเทศก็เปลี่ยนมาพิมพ์เองที่โรงพิมพ์ธนบัตรที่เคยตั้งอยู่ตรงนี้ ซึ่งตอนนี้โรงพิมพ์ย้ายไปพุทธมณฑลสาย 7 แล้ว

 

นอกจากเรื่องอาคารสถานที่ ทิศทางขององค์กรก็ได้รับการปรับปรุงมาตลอด พ.ร.บ. ธปท. ได้รับการแก้ไขมาทั้งหมด 7 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 ในด้านบุคลากร จากที่เคยมีพนักงาน 300 คนในช่วงเริ่มทำการก็เพิ่มมาอยู่ที่จุดสูงสุดที่ 5,300 คนในช่วงปี 2540 จนในตอนนี้มาอยู่ที่ประมาณ 3,300 คน ผู้ว่าการเองเปลี่ยนไปแล้วทั้งหมด 21 ท่าน

 

ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 80 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นท่านผู้ว่าการ อดีตผู้บริหาร หรืออดีตพนักงานทุกท่าน ที่ได้มีส่วนร่วมในการส่งต่อ “เรือ” ลำนี้ จนมาถึงพวกเราที่ทำงานกันอยู่ในปัจจุบันรวมทั้งสิ้นกว่า 9,100 ชีวิต ก็ได้ช่วยกันดูแล ซ่อมแซม พัฒนา และปรับปรุงเรือสำเภาของเรา ให้พร้อมรับมือกับสภาพท้องทะเลที่อาจจะแปรปรวนอยู่เรื่อยมา แม้ว่าหลายอย่างจะเปลี่ยนไป แต่เรือของเรายังคง “แก่น” ของความเป็นเรือ ธปท. ลำเดิมอยู่

 

ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ถ้าจะนับวาระของท่านผู้ว่าการทุกท่านรวมกันทั้ง 6ท่านจะถือเป็นช่วงเวลากว่า 25 ปีที่ ธปท. ได้ผ่านวิกฤตต่าง ๆ มากมาย แต่ละท่านแม้เจอความท้าทายที่ต่างกันไป แต่มีโจทย์สำคัญเดียวกัน คือ

 

การทำให้ ธปท. สามารถทำหน้าที่ธนาคารกลางในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเต็มความสามารถและดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตการเงิน การวางโครงสร้างพื้นฐานให้ภาคการเงินไทย หรือการพัฒนาองค์กรให้ ธปท. ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 วันนี้  พวกเราชาว ธปท. ยังต้องเผชิญความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเงินของประเทศอยู่เช่นเดียวกัน แน่นอนว่าความท้าทายที่เราเจอในวันนี้ จะมีรูปแบบต่างไปจากเดิม แรงขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเทคโนโลยี กระแสความยั่งยืน หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนไป ผู้เล่นในตลาด รวมถึงผู้กำกับดูแลก็จำเป็นต้องปรับตัวไปด้วยกัน

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการปรับตัวของ ธปท. คือการที่เราผลักดันให้เกิดภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย (Financial Landscape) ที่ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีโอกาสมาพูดคุยกันถึงภาพของภาคการเงินไทยในอนาคต

 

ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ แม้ว่า “รูปแบบ” ของความท้าทายจะทำให้ดูเหมือนว่าโลกของเราเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ถ้าเรามองไปลึก ๆ แล้ว หลายอย่างก็ยังคงเหมือนเดิม จากที่เคยเกิดฟองสบู่ทิวลิป ตอนนี้ก็อาจจะเป็นฟองสบู่คริบโตฯ เราเห็นประวัติศาสตร์ที่คอยซ้ำรอยเดิมอยู่เสมอ

 

ทั้งหมดนี้ เพราะลึก ๆ แล้ว มนุษย์ยังมีธรรมชาติเหมือนเดิม มีความต้องการอิสระ ความโลภ ความอยากรู้อยากเห็น มนุษย์ทุกวันนี้ไม่ได้ต่างไปจากมนุษย์เมื่อร้อยปีหรือพันปีที่แล้ว ธปท. ก็เช่นกัน

 

แม้ว่ารูปแบบของความท้าทายจะเปลี่ยนไป แต่ “แก่น” ของการเป็นธนาคารกลางที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ที่มีมนุษย์ปุถุชนเป็นผู้เล่นยังคงเหมือนเดิม ดังนั้น ของที่คนรุ่นก่อน ๆ ทำมาใช่ว่าเราจะทิ้งขว้างไป ประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอยอยู่เรื่อย ๆ ถ้าเราสังเกตเห็นความเชื่อมโยง ก็สามารถเอาองค์ความรู้ที่คนรุ่นก่อน ๆ ทำไว้มาปรับใช้ได้เสมอ

 

“ประสบการณ์ องค์ความรู้ ที่องค์กรของเราสั่งสมมายาวนาน จะเป็นส่วนช่วยให้ ธปท. สามารถปรับตัวภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยที่การปรับหรือการเปลี่ยนแปลงนี้ทำไปเพื่อให้เรายังคงรักษา “แก่น” ของเรา ซึ่งคือการทำตามพันธกิจให้ได้นั่นเอง

 

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราทุกคนจะช่วยกันดูแลรักษา ปรับปรุง สั่งสมองค์ความรู้ ทำให้เรือ ธปท. ที่พวกเราทุกคนได้รับมอบต่อมานี้ นำพาระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศผ่านพ้นความท้าทายต่าง ๆ ที่เรากำลังเจอ เพื่อสร้างรากฐานระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศให้เข้มแข็ง และส่งมอบเรือลำนี้ต่อให้กับรุ่นต่อ ๆ ไป”