ต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิกว่า 1.12 แสนล้านบาท แต่ทำไมดัชนี SET ปรับขึ้นน้อย

04 เม.ย. 2565 | 08:33 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2565 | 15:38 น.
714

3 เดือนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิกว่า 1.12 แสนล้านบาท สูงสุดในภูมิภาค แต่ดัชนีหุ้นไทย ( SET Index) ปรับเพิ่มเพียง 2.46% บล.เอเซียพลัส ชี้แรงกดดันมาจากแรงขายกองทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท สูงกว่า LTF ที่จะครบไถ่ถอนปีนี้ 5-6 หมื่นล้าน สะท้อนความกังวลปัจจัยลบช่วงที่ผ่านมา

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) รายงานมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์สะสมแยกตามกลุ่มนักลงทุน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 1 เมษายน 2565 ดังนี้

 

  • กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 81,313.02 ล้านบาท
  • บัญชีบริษัทหลักทรัพย์(โบรกเกอร์) ซื้อสุทธิ 731.38 ล้านบาท
  • นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 112,739.41 ล้านบาท
  • นักลงทุนทั่วไปในประเทศ(รายย่อย)ขายสุทธิ 32,157.76 ล้านบาท

 

ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย (SET Index)  ปิดทำการสุดท้ายของสัปดาห์ (1 เมษายน) ที่ระดับ 1,701.31 จุด เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 64 เพียง 43.69 จุด หรือบวก 2.64% จากที่ปิดในระดับ 1,657.62 จุด ณ 30 ธันวาคม 2564 โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) SET+mai ล่าสุดอยู่ที่ 20.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.25 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.62% จากสิ้นปี 64 
 

ฝ่ายวิจัยฯ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเซียพลัส (ASPS) ระบุว่า ฟันด์โฟลว์ต่างชาติยังเป็นแรงหนุนสำคัญของตลาดหุ้นไทยในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.65 ) สะท้อนได้จากต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยสูงสุดในภูมิภาคกว่า 3.1 พันล้านเหรียญ หรือกว่า 1.1 แสนล้านบาท 

 

ต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิกว่า 1.12 แสนล้านบาท แต่ทำไมดัชนี SET ปรับขึ้นน้อย

 

แรงขายกองทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท กดดันดัชนีหุ้นไทย

 

อย่างไรก็ตาม ตลอด3 เดือน แม้ต่างชาติจะซื้อสุทธิหุ้นไทยปริมาณมาก แต่ SET Index ปรับตัวขึ้นมาแค่นิดเดียว สิ่งที่กดดัน SET คือ แรงขายสุทธิจากกองทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท ( YTD)

 

เนื่องจากในปี 65 เป็นปีที่ครบกำหนดการไถ่ถอนของ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว ( LTF ) ของปี 2559 มูลค่ารวมกว่า 5 - 6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เห็นแรงขายจากสถาบันฯ ออกมามากกว่าปกติในช่วงต้นปี แต่ปัจจุบันผ่านมาเพียง 3 เดือน สถาบันฯขายสุทธิหุ้นไทยแล้วกว่า 8.0 หมื่นล้านบาท เกินกว่ามูลค่า LTF ที่ซื้อทั้งปี 2559 อีก

 

ต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิกว่า 1.12 แสนล้านบาท แต่ทำไมดัชนี SET ปรับขึ้นน้อย

 

ดังนั้นฝ่ายวิจัย ASPS ลองตรวจสอบดูตัวเลขสถานะการถือครองเงินสด ณ สิ้นเดือน กุมภาพันธ์ 65 ในกองทุนรวมที่มีนโยบายสามารถลงทุนหุ้นไทยได้เต็มพอร์ตทั้งหมด 370 กองทุน มี AUM รวม 5.6 แสนล้านบาท พบว่า มีรายการเทียบเท่าเงินสดมูลค่ารวมกันกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.52% ต่อเงินลงทุนทั้งหมด

 

ถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภาวะปกติที่ถือครองเงินสดราว 2 –3% อีกทั้งยังเห็นแรงขายสุทธิต่อเนื่องในเดือน มี.ค. 65 (mtd) อีก1.8 หมื่นล้านบาท แสดงว่าปัจจุบันกองทุนถือเงินสดในสัดส่วนที่สูงขึ้นไปอีก   และหากพิจารณาเพิ่มเติมเป็นรายกองทุน พบว่า มีกองทุนที่ถือเงินสดในสัดส่วนที่สูงกว่า 20% ถึง 21 กองทุนจาก 370 กองทุน

 

สถานะการถือเงินสดของกองทุนที่มีปริมาณมากกว่าปกติ แสดงให้เห็นถึงการตอบรับความกังวลจากปัจจัยลบต่างๆไปในระดับหนึ่งแล้ว ทำให้เชื่อว่าแรงขายจากกองทุนที่เคยกดดันตลาดในช่วงต่อจากนี้น่าจะเบาลง และหากตลาดย่อตัวลงมาหรือมีปัจจัยบวกเข้ามาหนุน น่าจะเห็นแรงซื้อกลับเข้ามาช่วยหนุนตลาดอีกครั้ง ขณะเดียวกับต่างชาติยังมีโอกาสซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องอีก ด้วยปัจจัยความได้เปรียบของตลาดหุ้นไทยในหลายๆ ด้าน 

 

คลิกอ่านเพิ่ม  :  เปิด10 หุ้น"NVDR" ซื้อ-ขายสุทธิสูงสุด เดือนมีนาคม 65