ก.ล.ต. จัดหนักดึง AI จับปั่นหุ้น-คริปโต โทษอาญา-แพ่ง

01 เม.ย. 2565 | 20:45 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2565 | 03:46 น.
964

ก.ล.ต. จัดหนักดึง เอไอ ตรวจสอบนักปั่นหุ้น-คริปโต ประกาศลงโทษผู้กระทำผิดทั้งอาญา-แพ่ง คาดเริ่มใช้ได้ภายในปี 2566

1 เมษายน 2565 นายเอนก อยู่ยืน ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Machine Learning) ร่วมกับพันธมิตร เพื่อใช้ในการเข้าช่วยตรวจสอบพฤติกรรมของธุรกรรมที่มีความผิดปกติที่เกี่ยวกับการสร้างราคาหุ้นต่าง ๆ หรือการปั่นหุ้น

โดยคาดว่า ระบบดังกล่าวจะแล้วเสร็จ และสามารถใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2566 เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างให้ระบบเอไอเรียนรู้พฤติกรรมของการซื้อขายและการใช้งานของนักลงทุนในตลาดก่อน

นายเอนก กล่าวว่า การนำเอไอมาช่วยในการตรวจหาผู้กระทำความผิดจะช่วยให้การทำงานของสำนักงานก.ล.ต. มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะลักษณะการทำงานของระบบเอไอ จะมาช่วยตรวจสอบพฤติกรรมการซื้อขายที่มีความผิดปกติเบื้องต้นได้ และเจ้าหน้าที่ของก.ล.ต. จะเข้ามาตรวจสอบอีกครั้งว่า ระบบได้ตรวจสอบข้อมูลได้ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะสามารถนำไปสู่กระบวนการสอบสวนในลำดับถัดไป แต่กระบวนการดำเนินการจะทำได้ช้าหรือเร็วนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการรวบรวมพยานหลักฐานของการกระทำความผิด

ความยากก็คือ การต้องหาพยานหลักฐานว่า มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา สถิติ มียอดรวมค่าปรับกว่า 173 ล้านบาท จากจำนวน 6 คดี และผู้กระทำความผิด 24 ราย โดยความผิดที่ถูกปรับมากที่สุดคือการปั่นหุ้น มีมูลค่าการถูกปรับ อยู่ที่ 127 ล้านบาท จากจำนวน 2 คดี และผู้กระทำความผิด 16 ราย

รองลงมา คือ การใช้ข้อมูลภายใน (อินไซด์เทรดดิ้ง) โดยมีมูลค่าปรับประมาณ 21.30 ล้านบาท ชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 16.64 ล้านบาท และการชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 0.38 ล้านบาท

การกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ดิจิทัล แอสเซท) มีจำนวนผู้กระทำความผิดเข้ามาจำนวนมาก สำนักงานก.ล.ต. ได้รับเรื่องเข้ามาพอสมควร โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการปั่นราคาเหรียญซึ่งคาดว่า อาจเห็นการบังคับใช้กฎหมายทั้งมาตรการทางแพ่งและทางอาญาบางกรณีออกมาในช่วงต่อจากนี้

ส่วนแผนการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ก.ล.ต.มีอำนาจในการสอบสวน ส่งฟ้อง และคุ้มครองพยานนั้น ประเมินว่า เรื่องนี้ยังต้องใช้เวลา เพราะปัจจุบันยังอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขข้อกฎหมายและต้องส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาซึ่งกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้อาจต้องใช้เวลาอีกซักระยะ นายเอนก กล่าว