“KCC” ขายหุ้นไอพีโอ 160 ล้านหุ้น หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง !!

01 เม.ย. 2565 | 14:04 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2565 | 21:39 น.

บมจ.บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล “KCC” เตรียมเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ mai ระดมทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพขยายพอร์ตสินทรัพย์ ชูแกร่งกำไรขั้นต้นสูงเฉลี่ยกว่า 88%

บมจ.บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล “KCC” พร้อมขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 160 ล้านหุ้น    หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง !! เตรียมเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ mai ระดมทุน เพื่อนำเงิน   ขยายพอร์ตสินทรัพย์ เพิ่มศักยภาพในการเติบโต ชูจุดแกร่งกำไรขั้นต้นสูงเฉลี่ยกว่า 88%  ผู้ถือหุ้นและทีมบริหารคร่ำหวอดในวงการบริหารหนี้มากกว่า 20 ปี

“KCC” ขายหุ้นไอพีโอ  160 ล้านหุ้น หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง !!

นายธวัชชัย วรวรรณธนะชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (“บริษัท หรือ KCC”) เปิดเผยว่า

 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ที่ KCC ได้ยื่นขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) แล้ว

 

 

 

“KCC” ขายหุ้นไอพีโอ  160 ล้านหุ้น หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง !!

บริษัทฯ จะเสนอขาย IPO จำนวน 160 ล้านหุ้น คิดเป็น 25.81% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายครั้งนี้มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม  230 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 460 ล้านหุ้น หลังเพิ่มทุนเพื่อขายไอพีโอบริษัทจะมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 310 ล้านบาท หรือ 620 ล้านหุ้น

 

 

 

 

นายธวัชชัย กล่าวว่า ธุรกิจของ KCC มีโอกาสขยายตัวได้ดีตามภาพรวมของธุรกิจ AMC และหากดูผลดำเนินงาน พบว่ารายได้และกำไรเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยผลประกอบการช่วงปี 2562-2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงาน 57.10 ล้านบาท 128.10 ล้านบาทและ125.75 ล้านบาท ตามลำดับและมีกำไรสุทธิเท่ากับ  12.03 ล้านบาท 49.06 ล้านบาท และ 52.42 ล้านบาท ตามลำดับ

 

ขณะที่ผู้ถือหุ้นและทีมผู้บริหารของบริษัท ทั้งนายสุชาติ บุญบรรเจิดศรีและนายทวี กุลเลิศประเสริฐ มีประสบการณ์ในธุรกิจบริหารหนี้และธุรกิจการเงินมากว่า 20 ปี โดยมีส่วนร่วมในการประมูลสินทรัพย์ของ ปรส.ในครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งรวมถึงเป็นที่ปรึกษาในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับบริษัทต่างๆ ที่ประสบปัญหาทางการเงินในแต่ละช่วงวิกฤตที่ผ่านมา

 

ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหาร  เป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนอยู่ในตัวเลขทางการเงินที่สำคัญปี 2564 ของบริษัท

เช่น อัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 88.95% อัตรากำไรสุทธิ ในระดับเท่ากับ 37.08% อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) เท่ากับ 12.06% หนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำเพียง 0.63 เท่า

 

และบริษัท มีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตรา ไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ

 

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทฯก่อนการเสนอขายหุ้นสามัญ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2565 กลุ่มบุญบรรเจิดศรี ซึ่งประกอบด้วย

นายสุชาติ บุญบรรเจิดศรี กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ และนายโคบี้ บุญบรรเจิดศรี (บุตรชายของคุณสุชาติ) ถือหุ้นรวมกัน 321.99 ล้านหุ้น หรือ 70%  ของทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว

 

นายทวี       กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทฯ และเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ถือหุ้น 138 ล้านหุ้น หรือ 30% ของทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว ภายหลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่จะลดลงเหลือ 51.94 % และ22.26 % ตามลำดับ

 

และประชาชนจำนวน 160 ล้านหุ้นหรือ 25.81% รวมหลังเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (หลัง IPO) 620 ล้านหุ้น     คิดเป็น 100 % (ทั้งนี้สัดส่วนดังกล่าวข้างต้นอาจมีเปลี่ยนแปลงเนื่องจากยังไม่รวมหุ้น IPO ที่จัดสรรให้กรรมการ ผู้บริหาร)

“KCC” ขายหุ้นไอพีโอ  160 ล้านหุ้น หลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง !!

ด้าน นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ KCC ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจบริหารจัดการหนี้ (AMC) ว่า มีโอกาสขยายตัว และเติบโตสูงในช่วง 2-3 ปี นับจากนี้

 

จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากวิกฤตโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวนาน ซึ่งส่งผลให้สินเชื่อในระบบสถาบันการเงินด้อยคุณภาพลงและมีโอกาสเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มากขึ้น

 

หากดูตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุดพบว่า NPLs ทั้งระบบมีกว่า 5 แสนล้านบาทและคาดว่าใน 1-2 ปีนี้ สถาบันการเงินต่างๆ จะนำ NPLs ออกมาประมูลขายเป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นโอกาสเติบโตของธุรกิจบริหารหนี้

 

“KCC ประกอบธุรกิจเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.โดยบริษัทรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ลูกหนี้ NPLs) จากสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน เพื่อนำมาบริหารจัดการปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียร่วมกับลูกหนี้เพื่อให้ลูกหนี้สามารถที่จะชำระหนี้ที่ค้างชำระและสามารถดำเนินกิจการของตนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) เพื่อนำมาปรับปรุงและจำหน่ายต่อไปบริษัทขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน และให้โอกาสแก่ลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักของบริษัท ดังนั้นจึงได้ตัดสินใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ หรือ mai เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต”

 

นายทวี กล่าวเพิ่มเติมว่า เงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้จะนำไปใช้ในการจัดหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย นำไปชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดที่ออก           โดยบริษัทฯ และ/หรือภาระหนี้สินอื่นใดของบริษัทฯ รวมถึงเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ                 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทและเพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต

 

ปัจจุบัน (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564) บริษัทฯ มีพอร์ตหนี้ NPLs ที่ 565.57 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจร้อยละ 60.22 และลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยร้อยละ 39.78 ของเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ