ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.32 บาท/ดอลลาร์

21 มี.ค. 2565 | 07:28 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2565 | 16:53 น.

ค่าเงินบาท อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ จากความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย หากราคาน้ำมันปรับขึ้นแรง รวมถึงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.32 บาทต่อดอลลาร์”อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน

 

ในสัปดาห์นี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก ทำให้สถานการณ์สงครามและการเจรจาสันติภาพยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด โดยแนวโน้มการเจรจาสันติภาพสามารถส่งผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดการเงินได้

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงเล็กน้อยจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนสะท้อนผ่านการขยายตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ชะลอลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) เดือนมีนาคมอาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 56.5 จุด (ดัชนีเกินระดับ 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)

 

เช่นเดียวกันกับภาคการบริการที่จะขยายตัวในอัตราชะลอลง หลังค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) อาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 54 จุด อย่างไรก็ดี ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้

 

โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธานเฟด เพื่อวิเคราะห์มุมมองของเฟดต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินเฟด หลังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนมากขึ้นจากผลกระทบของภาวะสงคราม ทั้งนี้ ตลาดอาจรอจับตามุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อประเด็นการปรับลดงบดุล ซึ่งเฟดไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดมากนักในการประชุมเฟดล่าสุด โดยเรามองว่า ประเด็นการปรับลดงบดุลอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้มากกว่าทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ฝั่งยุโรป – เรามองว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูงและอาจส่งผลให้ตลาดการเงินกลับมาผันผวนสูงขึ้นได้ เพราะ แม้ว่าการเจรจาสันติภาพยังคงเดินหน้าต่อ แต่การเจรจาก็เกิดขึ้นพร้อมกับการเดินหน้าบุกโจมตีของรัสเซีย

 

ทั้งนี้ ผลกระทบจากสงครามจะกดดันให้ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) ในเดือนมีนาคม ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 94 จุด นอกจากนี้ ผลกระทบจากสงครามอาจกดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปชะลอลง โดยในฝั่งภาคการผลิตจะเผชิญทั้งปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นและปัญหาด้าน Supply Chain ทำให้ภาคการผลิตขยายตัวในอัตราชะลอลง

 

สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตที่อาจลดลงสู่ระดับ 55 จุด ส่วนในฝั่งภาคการบริการมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงไม่มาก เพราะถึงจะเผชิญแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการยังมีแรงหนุนจากสถานการณ์ระบาดโอมิครอนที่ดีขึ้นและไม่ได้รุนแรงมากนัก ทำให้ดัชนี PMI ภาคการบริการจะลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 54 จุด 

 

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนภาคการบริการ หลังรัฐบาลได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการ lockdown ซึ่งจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) จากระดับ 44.2 จุด ในเดือนก่อนหน้า

 

ทว่าในฝั่งการผลิตอุตสาหกรรมอาจขยายตัวในอัตราชะลอจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กดดันให้ต้นทุนภาคการผลิตพุ่งสูงขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจลดลงสู่ระดับ 52 จุด ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของผลกระทบจากสงครามอาจกดดันให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ยังจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ โดยตลาดมองว่า BSP จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00% ทั้งนี้ BSP อาจส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีได้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 2%-4% (เงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.00%)

 

ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัวจากการระบาดของโอมิครอนจะช่วยหนุนให้ยอดการส่งออกของไทย (Exports) ในเดือนกุมภาพันธ์ โตกว่า 10%y/y ขณะเดียวกันยอดการนำเข้า (Imports) อาจขยายตัวราว +19%y/y จากแนวโน้มราคาสินค้าต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

ทำให้โดยรวมดุลการค้าอาจขาดดุลไม่น้อยกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในระยะสั้นดุลการค้าของไทยยังมีโอกาสขาดดุลต่อเนื่องจากผลกระทบของสงครามที่จะกดดันให้ยอดการส่งออกอาจขยายตัวในอัตราชะลอลง ขณะที่ยอดการนำเข้าโดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าพลังงาน/สินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น

 

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มที่จะผันผวนในกรอบกว้าง โดยต้องติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งล่าสุด เราเริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทย ราว 1.1 หมื่นล้านบาท)

 

อนึ่ง เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ จากความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย หากราคาน้ำมันปรับขึ้นแรง รวมถึงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

ทั้งนี้ แม้ว่า เงินบาทอาจเผชิญความเสี่ยงในฝั่งอ่อนค่า แต่เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกจำกัดในโซนแนวต้านที่สำคัญในช่วง 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่าผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างรอขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว

 

ขณะที่แนวรับสำคัญจะอยู่ในโซน 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ จากการประเมินแนวโน้มการรอจังหวะย่อตัวเพื่อซื้อเงินดอลลาร์ของฝั่งผู้นำเข้า ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองเชิงเทคนิคัลที่เงินบาท (USDTHB) ยังมีเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน และ 200 วันเป็นแนวรับที่สำคัญ

 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่า เงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หากการเจรจาสันติภาพล้มเหลวและสถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ความกังวลภาวะ Stagflation หากราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็สามารถกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงและหนุนการถือครองเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.10-33.60 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.40 บาท/ดอลลาร์

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับประมาณ 33.40-33.42 บาทต่อดอลลาร์ฯ (09.20 น.) ในช่วงเช้าวันนี้ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 33.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับทิศทางอ่อนค่าของภาพรวมสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย และค่าเงินหยวน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงประคองในช่วงที่ตลาดยังคงรอติดตามประเด็นวิกฤตยูเครนอย่างใกล้ชิด

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.25-33.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซีย ทิศทางฟันด์โฟลว์ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด