ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.34 บาท/ดอลลาร์

17 มี.ค. 2565 | 07:48 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2565 | 16:37 น.

ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวsidewayมีปัจจัยเสี่ยงจากภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบการระบาดของโอมิครอนระลอกใหม่ -ตลาดเงินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังเฟดหรือFOMC มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% ตามคาด

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.34 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.38 บาทต่อดอลลาร์- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นพร้อมเพรียงกัน แต่ตลาดบอนด์จะไม่ได้มีการปรับสถานะถือครองอย่างมีนัยยะสำคัญหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน   ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways และมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามภาวะการเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินที่อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ไทยมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและค่าเงินบาทยังคงเป็น ภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลกระทบของการระบาดโอมิครอนระลอกใหม่ ซึ่งต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

 

อนึ่ง เรามองว่า แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ใกล้โซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ที่ 33.75) ซึ่งเริ่มเห็นบรรดาผู้ส่งออกมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 33.20 บาทต่อดอลลาร์ โดยฝั่งผู้นำเข้า รวมถึงผู้เล่นที่เป็นบริษัทต่างชาติ ต่างก็รอจังหวะ buy on dip อยู่ในโซนดังกล่าวพอสมควร

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์

 

ผู้เล่นในตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยแนวโน้มการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจจะบรรลุข้อตกลงกันได้ หลังจากที่ทางยูเครนพร้อมที่จะหารือเกี่ยวกับสถานะประเทศเป็นกลาง อีกทั้งผู้นำทั้งสองประเทศอาจเปิดการเจรจาโดยตรงในระยะสั้นนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การยุติสงครามได้ในที่สุด

 

นอกจากนี้ ตลาดการเงินยังได้แรงหนุนจากการที่ คณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด (FOMC) มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% ตามคาด พร้อมกันนั้น เฟดยังได้ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 6 ครั้งในปีนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเฟด ณ สิ้นปี จะอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00%

 

ส่วนในปีหน้านั้น เฟดมองการขึ้นดอกเบี้ยอีก 4 ครั้ง ทำให้ จุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้จะอยู่ที 2.75-3.00% ทั้งนี้ การปรับขึ้นประมาณการดอกเบี้ยนโยบายของเฟดนั้นสอดคล้องกับมุมมองของเฟดที่ต้องการจัดการปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งสะท้อนผ่านการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อ PCE ในปีนี้ที่สูงถึง 4.3% และ 2.7% ในปีหน้า อนึ่งในการประชุมครั้งนี้ เฟดยังได้ส่งสัญญาณเตรียมลดงบดุลในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนพฤษภาคม

 

ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดนั้น ได้หนุนให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นพร้อมเพรียงกัน แม้ว่าจะมีจังหวะย่อตัวลงบ้างในจังหวะรับรู้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็ตาม โดย ดัชนีหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า +3.77% ตามแรงซื้อ buy on dip หุ้นเทคฯ ที่ปรับตัวลงหนักก่อนหน้า ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +2.24% โดยมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงินที่จะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พุ่งขึ้นราว +4.05 % ท่ามกลางความหวังการเจรจาสันติภาพ ส่งผลให้หุ้นในกลุ่ม Cyclical รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคฯ สามารถปรับตัวขึ้นได้ดี อาทิ Infineon Tech. +8.3%, ASML +7.1%, Intesa Sanpaolo  +7.0%, ING +6.3%

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ เนื่องจากตลาดได้รับรู้แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟดมาพอสมควรแล้ว ทำให้ เมื่อเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยและปรับประมาณการดอกเบี้ยตามคาด ตลาดจะไม่ได้มีการปรับสถานะถือครองบอนด์อย่างมีนัยยะสำคัญ

 

ทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2.17% ทั้งนี้ เราคาดว่า หากตลาดเลิกกังวลปัจจัยสงคราม บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็จะสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อเนื่อง จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด ซึ่งตลาดจะกลับมาให้น้ำหนักประเด็นการลดงบดุลของเฟด ว่าจะมีอัตราการลดงบดุลขนาดไหนและเฟดจะมีโอกาสขายตราสารหนี้ออกมาหรือไม่ 

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวน ก่อนที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง ท่ามกลางความหวังการเจรจาสันติภาพ

 

ขณะเดียวกัน ผลการประชุมเฟดก็ไม่ได้ผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 98.40 จุด ที่น่าสนใจคือ แม้ว่า เฟดจะมีแนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

 

รวมถึง ผู้เล่นในตลาดต่างมีความหวังต่อการเจรจาสันติภาพ แต่ราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์จากระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ กลับมาสู่ระดับ 1,928 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดทองคำควรระมัดระวังแรงขายทำกำไร หากสถานการณ์สงครามคลี่คลายลงชัดเจน

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างใกล้ชิด หลังทั้งสองฝ่ายยังคงเดินหน้าการเจรจาสันติภาพอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สถานการณ์สงครามและการเจรจายังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และอาจทำให้ตลาดการเงินยังมีโอกาสผันผวนสูงต่อไปได้ในระยะสั้นนี้

 

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น นอกเหนือจากการประชุมเฟดที่ตลาดจะรอจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางอื่นๆ โดยในฝั่งยุโรป ตลาดประเมินว่า แม้ว่าสงครามอาจสร้างความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

 

แต่ทว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นและอาจอยู่ในระดับสูงได้นานกว่าคาด จะกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) สามารถขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% ได้ ทั้งนี้ BOE อาจสื่อสารกับตลาดว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นกับผลกระทบจากสงครามต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษโดยเฉพาะการเติบโตเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบของสงครามจะกดดันให้บรรดาธนาคารกลางในฝั่งเอเชียยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายไปก่อน โดยตลาดคาดว่า ธนาคารกลางไต้หวัน (CBC) และ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.125% และ 3.50% ตามลำดับ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เช้าวันนี้ เงินบาทแข็งค่าทดสอบแนว 33.20 ในช่วงแรก ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.26-33.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.30 น.)  เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อทำกำไร หลังจากที่ผลการประชุมเฟดเมื่อวานนี้ออกมาตามที่คาด (เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไปที่ 0.25-0.50% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อตลอดรอบการประชุมที่เหลือของปีนี้ เพื่อชะลอความเสี่ยงเงินเฟ้อ) ขณะที่แรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัยก็น้อยลดลง เพราะเริ่มมีสัญญาณบวกจากสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียซึ่งทำให้มีความคาดหวังมากขึ้นจากการเจรจาระหว่างสองฝ่าย แม้สงครามจะยังไม่สิ้นสุดลง

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ คาดไว้ที่ 33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การตอบรับต่อผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟด  สถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซีย ผลการประชุม BoE และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ.