ตลาดเงินโลกวันนี้เสี่ยงสูง เกาะติดการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

16 มี.ค. 2565 | 08:16 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2565 | 22:19 น.

ตลาดการเงินโลกวันนี้เสี่ยงสูง รอติดตามการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ผู้เล่นในตลาดลุ้นผลประชุมเฟด ทำให้อยู่ในภาวะ wait and see เพื่อรอดูแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟดในเช้าวันพฤหัสบดีนี้

ตลาดเงินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นการประชุมเฟด ซึ่งจะทราบผลการประชุมในช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทยทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจอยู่ในภาวะ wait and see เพื่อรอดูแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าตลาดการเงินโดยรวมเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น  ท่ามกลางความหวังว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะยังคงดำเนินต่อไปและอาจช่วยปูทางไปสู่การยุติสงครามในที่สุด

 

อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นการประชุมเฟด (ซึ่งจะทราบผลการประชุมในช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย) ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจอยู่ในภาวะ wait and see เพื่อรอดูแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟดไปก่อน

 

ในฝั่งสหรัฐฯ นอกเหนือจากความหวังการเจรจาสันติภาพ ผู้เล่นในตลาดยังได้คลายกังวลปัญหาเงินเฟ้อลงมาบ้าง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันดัชนีราคาสินค้าผู้ผลิตพื้นฐาน ( Core PPI) ที่ไม่รวมราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและอาหารสด ในเดือนกุมภาพันธ์ ก็ปรับตัวขึ้นเพียง +8.4%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าและน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

 

ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้นักลงทุนทยอยกลับมา buy on dip หุ้นสหรัฐฯ มากขึ้น หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า +2.92% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +2.14% โดยมีแรงกดดันดัชนีบ้างจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบย่อลงต่อเนื่อง

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวลงเล็กน้อยราว -0.08% โดยดัชนีไม่ได้ปรับตัวลงหนัก หลังผู้เล่นบางส่วนยังคงมีความหวังต่อการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้หุ้นในกลุ่ม Cyclical ที่ปรับตัวลงหนักก่อนหน้า อาทิ หุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มยานยนต์ ทยอยปรับตัวขึ้น อาทิ Daimler +2.3%, BMW +1.2%, Santander +1.0% ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ wait and see รอสัญญาณเชิงเทคนิคัลยืนยันการกลับตัวที่ชัดเจนก่อน เนื่องจากสถานการณ์สงครามและการเจรจาก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อและภาวะทยอยเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 2.15%

 

อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับดังกล่าวไปก่อน จนกว่าจะรับรู้แนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดที่ชัดเจนจากการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ นี้ ซึ่งเราคาดว่า หากตลาดเลิกกังวลปัจจัยสงคราม บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็จะสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อเนื่อง

 

จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด โดยเฉพาะการปรับลดงบดุล ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของบอนด์ยีลด์ ได้มากกว่าแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากปัจจุบันตลาดได้คาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 6-7 ครั้งในปีนี้ 

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนและย่อตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยที่ลดลง ท่ามกลางการเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดได้กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลง ทว่า เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดจะต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ

 

ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) แกว่งตัวใกล้ระดับ 98.92 จุด ซึ่งเรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสที่จะอ่อนค่าลงได้บ้าง หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยได้มากถึง 7 ครั้งตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่เงินดอลลาร์จะไม่อ่อนค่าลงไปมาก เพราะตลาดยังคงกังวลปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนอยู่บ้าง

 

อนึ่ง แนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น (ซึ่งสะท้อนผ่านการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ) รวมถึง ความหวังต่อการเจรจาสันติภาพ ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

ทั้งนี้ ผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำ เพื่อรอจังหวะ buy on dip ได้ เพราะสถานการณ์สงครามยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงและผู้เล่นบางส่วนอาจรอลุ้นว่าเฟดอาจไม่ได้ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากเท่าที่ตลาดคาดหวังไว้

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างใกล้ชิด หลังทั้งสองฝ่ายกลับมาเจรจากันอีกครั้ง ทว่า การสู้รบก็ยังคงดำเนินต่อไปพร้อมกับการเจรจา ซึ่งเรามองว่าแนวโน้มสถานการณ์สงครามและการเจรจายังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทำให้ตลาดการเงินยังมีโอกาสผันผวนสูงต่อไปได้ในระยะสั้นนี้

 

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ตลาดจะรอจับตาทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกุมภาพันธ์ โดยตลาดประเมินว่า ยอดค้าปลีกยังสามารถขยายตัวได้ราว 0.4% จากเดือนก่อนหน้า แต่เป็นการชะลอลงมากขึ้นจากเดือนมกราคมที่โตถึง 3.8% จากผลกระทบของราคาสินค้าพลังงานรวมถึงราคาสินค้าอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

 

ตลาดประเมินว่าผลกระทบจากภาวะสงครามที่เริ่มจะกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้ปรับตัวลดลง อาจกดดันให้การใช้จ่ายของคนอเมริกันชะลอลงมากขึ้นในระยะสั้นได้ ซึ่งภาพเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามมากขึ้น อาจสร้างความลำบากใจให้กับเฟดในการปรับนโยบายการเงิน

 

ส่วนไฮไลท์สำคัญของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (ทราบผลการประชุมในเวลา 1.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยเรามองว่า เฟดจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 0.00-0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50%

 

ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ตลาดจะรอลุ้นคือประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด (Dot Plot) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า เฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 7 ครั้งในปีนี้ เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งในด้านการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อ หลังจากที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้นจากผลกระทบของภาวะสงคราม