ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า”ที่ระดับ 33.15 บาทต่อดอลลาร์

11 มี.ค. 2565 | 07:39 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2565 | 17:19 น.

ค่าเงินบาทแนวต้านจะอยู่ใกล้โซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเริ่มเห็นบรรดาผู้ส่งออกมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.15 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.13 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าสำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าเงินบาทมีโอกาสจะอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงได้ และเงินบาทจะเริ่มแกว่งตัว sideways ในกรอบที่กว้างตามความผันผวนที่สูงของตลาด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อการเจรจาเพื่อยุติสงคราม

 

ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้เล่นในตลาดไม่ได้เร่งเทขายสินทรัพย์เสี่ยงรุนแรง แม้การเจรจาล่าสุดจะยังไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม นอกจากนี้ เรามองว่า แรงขายทำกำไรทองคำก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ตลาดกังวลต่อสถานการณ์สงครามน้อยลง

 

ทั้งนี้ ควรจับตาแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเรามองว่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นกันต่อทิศทางของเงินบาท โดยแรงขายทั้งหุ้นและบอนด์ระยะสั้นของไทยจากนักลงทุนต่างชาติ เริ่มลดลง สะท้อนว่า หากสถานการณ์สงครามไม่ได้เลวร้ายขึ้น นักลงทุนต่างชาติก็พร้อมจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทยอีกครั้งได้

 

อนึ่ง เรามองว่า แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ใกล้โซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเริ่มเห็นบรรดาผู้ส่งออกมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยฝั่งผู้นำเข้าต่างรอจังหวะ buy on dip เงินดอลลาร์อยู่ในโซนดังกล่าวพอสมควร

 

อย่างไรก็ดี สภาวะสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงอาจกดดันให้ตลาดพลิกกลับไปปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนักได้ทุกเมื่อ ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวจะทำให้เงินบาทอาจผันผวนในกรอบที่กว้างกว่าช่วงปกติได้ ทำให้การปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนควรจะต้องมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ การใช้ Option  

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.25 บาท/ดอลลาร์

 

 

 

ตลาดการเงินโดยรวมพลิกกลับมาผันผวนและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง หลังจากที่การเจรจาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งรัสเซียกับยูเครนยังไม่สามาถบรรลุข้อตกลงเพื่อหยุดยิงได้

 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดการเงินบางส่วนก็กลับมากังวลแนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมากกว่าคาดอีกครั้ง หลังจากที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับ 7.9% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ทำให้ตลาดกลับมามองว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 1.75% (หรือเทียบกับการขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ) โดยผู้เล่นบางส่วนมองว่า ในการประชุมเดือนมิถุนายน เฟดอาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.5% เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

 

ภาพสถานการณ์สงครามที่ดูจะยืดเยื้อและความกังวลการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อของเฟด ได้กดดันให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงราว -0.43% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็ปรับตัวลงกว่า -0.95% หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่อง จากความกังวลเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวลดลงกว่า -3.04% หลังจากที่พุ่งขึ้นแรงในวันก่อนหน้า โดยตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงกดดันจากประเด็นความเสี่ยงสงครามที่ยังไม่แน่นอน และแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

 

โดย ECB ได้เตรียมยุติการซื้อสินทรัพย์ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หากเศรษฐกิจยูโรปยังคงเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงอยู่ ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ wait and see รอสัญญาณเชิงเทคนิคัลยืนยันการกลับตัวที่ชัดเจนก่อน เนื่องจากสถานการณ์สงครามและการเจรจาก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง

 

ขณะที่ประเด็นนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของ ECB ก็เป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้มาแล้วระดับหนึ่ง (ก่อนสงคราม ตลาดประเมิน ECB อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้) ทำให้เรามองว่าแนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของ ECB จะไม่ได้กดดันตลาดหุ้นยุโรปมากเท่ากับผลกระทบจากสงคราม

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 2.02% ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1.99% หลังตลาดการเงินโดยรวมยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง อนึ่ง เราคงมองว่า หากตลาดกล้ากลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้ บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็จะสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อเนื่อง จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด โดยเฉพาะการปรับลดงบดุล

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ภาวะตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงรวมถึงแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ได้หนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) สามารถปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 98.5 จุด

 

ทั้งนี้ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น แต่ทว่า ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความผันผวนจากสงครามก็ยังคงหนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์กลับขึ้นมาใกล้ระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง

 

อนึ่ง เรามองว่า หากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนราคาทองคำ ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายทำกำไรทองคำมากขึ้น ซึ่ง แรงขายทำกำไรทองคำอาจช่วยหนุนให้เงินบาทสามารถกลับมาแข็งค่าได้บ้าง โดยเฉพาะในจังหวะที่ตลาดไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงรุนแรง

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างใกล้ชิด หลังการเจรจาล่าสุดระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถนำไปสู่ข้อตกลงร่วมเพื่อหยุดยิงได้ อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายยังพร้อมที่จะกลับมาเดินหน้าการเจรจาเพื่อยุติสงคราม แต่ด้วยแนวโน้มสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทำให้ตลาดการเงินยังมีโอกาสผันผวนสูงต่อไปได้ในระยะสั้นนี้

 

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น เรามองว่า  ความไม่แน่นอนของภาวะสงคราม รวมถึงราคาสินค้าพลังงานรวมถึงราคาสินค้าอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากภาวะสงครามจะกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภค สำรวจโดย มหาวิทยาลัยมิชิแกน (UofM Consumer Sentiment) ในเดือนมีนาคมให้ลดลงสู่ระดับ 61 จุด จาก 62.8 จุดในเดือนก่อนหน้า

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 33.20 ก่อนจะกลับมาปรับตัวที่ระดับ 33.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.30 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียกลับมาเผชิญแรงเทขายตามสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ซึ่งรับข่าวลบทั้ง 2 เรื่อง ได้แก่ การเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างยูเครนและรัสเซียสิ้นสุดลงเมื่อวานนี้โดยปราศจากข้อสรุป และการขยับขึ้นมากกว่าที่คาดและมีแนวโน้มขึ้นต่อของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ 
 
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ คาดไว้ที่ 33.05-33.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ขั้นต้น) เดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ