"กสิกรไทย" โดดอุ้มลูกค้า ดันยอด NPA พุ่ง

04 มี.ค. 2565 | 16:41 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2565 | 23:42 น.

“พักทรัพย์พักหนี้” ดันสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ) ระบบแบงก์พุ่ง 28.32% หลังเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้า KBANK นำโด่ง พร้อมเจรจาร่วมทุนตั้ง JV AMC รองรับหนี้ก้อนใหม่

ระหว่างทางที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทยอยออกมาตรการเพื่อสนับ สนุนให้ธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์)และสถาบันการเงินของรัฐ (SFI) ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งรายย่อย ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องต่อการดำเนินธุรกิจ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 

 

อีกทั้งยังออกเกณฑ์ส่งเสริมธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี) ในรูปแบบให้สามารถจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน(JV AMC) โดยกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากันระหว่างธนาคารกับเอเอ็มซีที่ 49% และอีก 2% เป็นบุคคลอื่นอีก เพื่อรับซื้อทั้งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ) ในราคายุติธรรมพร้อมกำหนดให้ต้องยื่นจัดตั้งภายใน 3 ปี หรือจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ทั้งนี้ JV AMC เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่ออกมารองรับหนี้หลังหมดมาตรการช่วยเหลือ จึงให้ระยะเวล 15 ปี เพื่อเคลียร์หนี้ที่รับเข้ามาบริหารจัดการ 

ขณะที่ทรัพย์สินรอการขาย หรือ NPA ของธนาคารพาณิชย์ปี 2564 พบว่า มียอดรวมทั้งสิ้น 125,993 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27,812 ล้านบาทหรือ 38.32% จากปี 2563 ที่มียอด NPA ทั้งสิ้น 98,181 ล้านบาท โดยที่ธนาคารที่มี NPA สูงสุดคือ กสิกรไทย ที่ 42,291 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 14,279 ล้านบาท หรือ 50.97% จากปี 2563 ที่มี NPA ทั้งสิ้น 28,012 ล้านบาท

\"กสิกรไทย\" โดดอุ้มลูกค้า  ดันยอด NPA พุ่ง

 

แหล่งข่าวจากธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อจับคู่กับเอเอ็มซี ซึ่งตามกฎหมายเปิดช่องให้ถือหุ้นได้ 3 ขาหรือ 4 ขา ซึ่งแต่ละขาจะต้องถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อไม่ให้ใครมีอำนาจในการบริหารจัดการเหนือกันและกัน  
 

นโยบายส่งเสริมให้ธนาคารจับคู่กันจัดตั้ง JV AMC ทำให้แต่ละค่าย หรือ ทุกค่ายจำเป็นต้องจับคู่กัน เพราะหากไม่มี JV AMC อาจจะไม่มีทรัพย์ออกมาขายให้เอเอ็มซีของตัวเอง เนื่องจากเมื่อมีการจัดตั้ง JV AMC จะมีทรัพย์นำออกขายในตลาดน้อย 

 

“JV AMC ยังต้องทดลองผลดำเนินงานในช่วงแรก ในแง่การบริหารจัดการหนี้เสียก่อน แต่ตลาดก็กลัวถ้าแบงก์มีพาร์ทเนอร์ก็จะไม่ปล่อยเอ็นพีแอลและเอ็นพีเอให้กระเด็นออกไปข้างนอก” แหล่งข่าวกล่าว

 

ต่อข้อซักถามถึงตัวเลขเอ็นพีเอของธนาคาร กสิกรไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น แหล่งข่าวระบุว่า เป็นเอ็นพีเอที่ปรับเพิ่มขึ้น จากธนาคารกับลูกหนี้ที่สามารถตกลงกันผ่านมาตรการช่วยเหลือในโครงการพักทรัพย์พักหนี้เป็นจำนวนมากพอประมาณ ซึ่งถือเป็นอันดับ 1 ของธปท. ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการโรงแรม ซึ่งมีราคาที่หลากหลายขึ้นกับสัดส่วนหนี้ต่อมูลค่าหลักประกันหรือ LTV 

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะใช้เกณฑ์ LTV ในระดับต่ำ เพราะธนาคารไม่อยากรับโอนทรัพย์ด้วย LTV ที่อัตราสูง เนื่องจากต้องการให้ลูกหนี้อยู่ได้ โดยรู้กระแสเงินสด หรือ สภาพคล่องของตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับอนาคตธุรกิจของตัวเอง ขณะเดียวกันทำให้ลูกหนี้ในกลุ่มที่กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือ Stage2 ปรับลดลง เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 

 

สำหรับลูกหนี้ที่เข้า “โครงการพักทรัพย์ พักหนี้” นั้น ธนาคาร กสิกรไทยให้การช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้ผู้ประกอบการเบาตัว หรือ ตัวเบา ซึ่งรายที่เพิ่งเปิดบริหารธุรกิจสามารถเลี้ยงลูกน้องได้ โดยไม่ต้องเเลิกจ้างพนักงาน (Lay off)ในทางกลับกัน ถ้าหากไม่มีข้อสรุปเหมือนที่ผ่านมา ผลกระทบก็จะย้อนกลับมาที่ธนาคารได้เช่นกัน เพราะแต่ละโรงแรมมีพนักงาน ทั้งประจำและชั่วคราวเป็นหลัก 100 คน บางสถานประกอบการมีการจ่ายเงินเดือนผ่านบัญชีของธนาคาร (Pay roll) และพนักงานรายย่อยเหล่านั้น มีใช้บริการ บัตรเครดิต และสินเชื่อบ้านกับธนาคารด้วย 

 

ดังนั้น การบรรลุข้อตกลงกัน ทั้งลูกหนี้และธนาคารต่างต้องช่วยลดอัตราจ้างงานได้ระดับหนึ่ง แต่หากไม่ช่วยซึ่งกันและกันผลกระทบจะลามลูกหนี้รายย่อยและย้อนกลับมากระทบธนาคารเจ้าหนี้ ส่วนเอ็นพีเอที่รับโอนมาถือครองนั้น มีส่วนเพิ่มจากมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มีสัญญาต้องบริหารออกไปภายใน 3-5 ปีตามวัตถุประสงค์ของธปท.

 

“โจทย์ใหญ่ตอนนี้คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เพราะกระทบคนงานทั้งทางตรงและทางอ้อม หากเกิดเหตุไม่ดี ทั้งลูกหนี้ทั้งแบงก์ก็จะเหนื่อย ซึ่งแบงก์ยังกังวลผลกระทบจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะกลายพันธุ์หรือ ขยายวงมากน้อยแค่ไหน หรือภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจะฟื้นกลับอย่างไร เหล่านี้ต้องลุ้นกันมาก” แหล่งข่าวกล่าว

 

รายงานข่าวจากธปท.ระบุว่า โครงการพักทรัพย์ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 -วันที่ 24 ก.พ 2565 มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 39,569 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 285 ราย โดยปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจหลายแห่งให้ความสนใจและอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,761 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2565