ธปท.ยัน ตัดรัสเซียพ้น Swift ไม่กระทบระบบชำระเงินในไทย

28 ก.พ. 2565 | 16:31 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2565 | 23:31 น.

ธปท.ประเมินผลกระทบวิกฤต “รัสเซีย-ยูเครน” ยืนยัน มาตรการลงโทษรัสเซียออกจากระบบ Swift ไม่กระทบระบบชำระเงินในไทย มั่นใจแต่ละประเทศมีมาตรการรองรับ เชื่อผลกระทบระยะสั้น พร้อมประเมินสถานการณ์ผ่าน 3 ช่องทาง “ตลาดการเงิน-อัตราเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจโลกชะลอ”

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์ร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า ธปท.ติดตามสถานการณ์ที่ชาติตะวันตกใช้มาตรการตัดรัสเซียออกจากระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ (Swift)  ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนอย่างใกล้ชิด และยืนยันว่า ระบบการชำระเงินภายในประเทศของไทยไม่มีปัญหา

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์ร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

 

ส่วนระบบการชำระเงินของโลก จะต้องดูท่าทีของชาติตะวันตกจะดำเนินการแบบไหน เช่น จะตัดระบบกี่ธนาคาร หรือจะหยุดกิจกรรมอะไรบ้าง เป็นเรื่องที่ธปท.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยต้องรอดูว่า จะยืดเยื้อและรุนแรงขนาดไหน ซึ่งอาจะมีผลกระทบระยะสั้น

ทั้งนี้ หากมีการคว่ำบาตรผ่านมาตรการต่างๆ และตัดออกจากระบบ SWIFTเชื่อว่า แต่ละประเทศมีแผนฉุกเฉินรองรับอยู่แล้ว  และรัสเซียยังคงมีระบบการชำระเงินแบบอื่นรองรับ เพียงแต่ อาจจะไม่สะดวกรวดเร็วเท่ากับ SWIFT และอาจจะเพิ่มภาระต้นทุน และประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมลดลง

 

อบ่างไรก็ตาม ในแง่ของธปท.นั้น ต้องมองภาพรวมทั้งตลาดการเงินตลาดทุน ไม่ใช่มองเฉพาะระบบการชำระเงิน โดยให้ธนาคารติดต่อลูกค้าและธุรกิจไทยที่ลงทุนในรัสเซียน่าจะมีแนวทางบริหารจัดการ

เบื้องต้น ธปท.ประเมินผลกระทบต่อไทย จะผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่

  • ความผันผวนของตลาดการเงิน ซึ่งอาจจะเห็นความปันผวนของค่าเงินบาทบ้าง แต่สถียรภาพต่างประเทศของไทยถือว่าค่อนข้างดี
  • อัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากรัสเซียผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อส่งออก ซึ่งไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันค่อนข้างสูง อาจมีผลต่อเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น ส่วนจะเร่งสูงไปอยู่ที่เท่าไรนั้น จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ลากยาวและยืดเยื้อขนาดไหน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อใหม่ ซึ่งจากเดิมคาดการณ์ว่าจะเร่งตัวสูงในช่วงครึ่งปีแรก และทยอยปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี

 

แต่ภายหลังจากสถานการณ์รัสเซีย คณะกรรมการฯ จะมีการประเมินภายใต้สมมติฐาน (scenario) ตามระยะเวลาของสถานการณ์ เช่น เหตุการณ์ยืดเยื้อไปเรื่อยๆ หรือ สามารถเจรจาและหารือร่วมกันได และสามารถจบได้เร็ว เป็นต้น ซึ่งภายใต้ scenario จะมีผลต่อราคาน้ำมัน และการคาดการณ์ของอัตราเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป

 

  • ผลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งอาจมีผลต่อการค้าและการลงทุน แต่สัดส่วนการค้าและการลงทุของไทยในรัสเซียมีสัดส่วนไม่เยอะมาก