รัสเซียแก้ปัญหาเงินรูเบิลร่วง ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 20%

28 ก.พ. 2565 | 15:07 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2565 | 00:07 น.
1.6 k

ผลกระทบ “รัสเซียยูเครน” ทำให้เงินรูเบิลร่วงลง 30 % เมื่อเทียบกับวันศุกร์ที่ผ่านมา ล่าสุดธนาคารกลางรัสเซียแก้ปัญหานี้ โดยการประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากเดิม 9.5% เป็น 20 %

ธนาคารกลาง "รัสเซีย" ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้นโยบายเกือบเท่าตัวจาก  9.5% เป็น 20% ขณะที่ค่าเงินรูเบิลร่วงลงอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการคว่ำบาตรและบทลงโทษต่างๆที่ทางสหรัฐฯและยุโรปร่วมกันกระทำต่อรัสเซีย จากการที่รัสเซียส่งกองกำลังเข้าไปในยูเครน

 

เหตุผลของการขึ้นดอกเบี้ย
ธนาคารกลาง "รัสเซีย" ให้เหตุผลถึงการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ว่า “เป็นการลดความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อและค่าเงินรูเบิลที่จะลดลง” โดยก่อนหน้านี้มีการขายเงินรูเบิลออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ค่าเงินรูเบิลร่วงลงถึง 30 %  อยู่ที่ 119.50 รูเบิล / 1 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังย้ำว่า รัสเซียยังมีเงินในระบบ(ในประเทศ)ที่จะสามารถช่วยในการเสริมสภาพคล่องได้อยู่อีกประมาณ 7.33แสนล้านรูเบิล (8.78พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ)

การคว่ำบาตรทางการเงินต่อรัสเซีย
ก่อนหน้านี้ ทำเนียบขาว และชาติพันธมิตรตะวันตก รวมถึงฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี อังกฤษ และแคนาดา ออกประกาศช่วงเย็นวันที่ 26ก.พ. ตามเวลาท้องถิ่นว่า ทั้งหมดเห็นพ้องร่วมกันในเบื้องต้นที่จะขับธนาคารสัญชาติ  "รัสเซีย" จำนวนหนึ่งออกจาก SWIFT  ซึ่งเป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นโดยธนาคารในสหรัฐและยุโรป ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการให้มีสถาบันเดียวพัฒนาระบบของตนเองและผูกขาด

ปัจจุบันเครือข่าย SWIFT มีธนาคารและสถาบันการเงินมากกว่า 2,000 รายเป็นเจ้าของร่วมกัน และอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารกลางแห่งเบลเยียม โดยร่วมมือกับธนาคารกลางรายใหญ่ทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารแห่งอังกฤษ

อียูประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 25 ก.พ. นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานรัฐสภายุโรป และนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ออกมาแถลง ผลการประชุมฉุกเฉิน นานกว่า 6 ชั่วโมง โดยสหภาพยุโรป (อียู) เห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ เกี่ยวกับท่าทีในการตอบโต้ "รัสเซีย" ในขั้นที่รุนแรงมากขึ้น
 
โดยอียูมีมติว่า รัสเซียควรจะถูกประณามต่อการตัดสินใจเริ่มปฏิบัติการทางทหารเพื่อโจมตียูเครนเมื่อวานนี้ (24 ก.พ.) โดยหลังจากนี้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะมี มาตรการคว่ำบาตร “ขั้นสูงสุดชุดใหญ่” ต่อรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมืองของรัสเซียอย่างแน่นอน ซึ่งมาตรการจัดหนักครั้งใหม่นี้ ครอบคลุมถึง มาตรการคว่ำบาตรทางการเงิน ตัดช่องทางในการเข้าถึงตลาดการค้าหลักๆของรัสเซีย และยังมุ่งเป้าหมายไปยังตลาดการธนาคาร 70% โดยเฉพาะบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ รวมทั้งในสายกลาโหมด้วย ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ นี้ จะทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินของรัสเซียสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของรัสเซียอย่างหนัก