ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.27 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.16 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุ เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนและอาจอ่อนค่าลงได้จากความกังวลสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในประเทศ หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง จนอาจทำให้รัฐบาลกลับไปใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดอีกครั้งได้
อย่างไรก็ดี เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะถึงแม้ตลาดการเงินจะปิดรับความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่ทว่า เงินบาทยังคงได้รับแรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรเริ่มจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยได้บ้าง หลังจากความเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครนกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง จนอาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนเลือกที่จะลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลงได้ ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายทำกำไรหุ้นไทย ก็อาจเป็นแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ แต่มองว่า การอ่อนค่าจะถูกจำกัดไว้ในโซน 32.40-32.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ฝั่งผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.20-32.35 บาท/ดอลลาร์
แม้ว่าคืนก่อนหน้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปิดทำการเนื่องจากเป็นวันหยุด Presidential Day ทว่า ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากปัญหาความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงครามได้ หลังจากที่ล่าสุด ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียได้ประกาศรับรองเอกราชของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนับตั้งแต่วิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนในปี 2014
นอกจากนี้ การประกาศรับรองเอกราชดังกล่าว ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า รัฐบาลรัสเซียอาจใช้เป็นข้ออ้างในการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าสู่พื้นที่ข้อพิพาท ซึ่งอาจปูทางไปสู่การบุกโจมตียูเครนในอนาคตได้
ความตึงเครียดของปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ สัญญาฟิวเจอร์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ล้วนปรับตัวลดลง ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวลดลงราว -2.17% จากความกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจนำไปสู่สงครามได้ทุกเมื่อ โดยแรงเทขายหนักกระจุกตัวในทั้งหุ้นกลุ่มเทคฯ และ หุ้นกลุ่ม Cyclical อย่าง กลุ่มยานยนต์ซึ่งอาจได้รับผลกระทบหนัก หากทางฝั่งยุโรปมีการประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย
เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกแร่ธาตุสำคัญ อาทิ แพลเลเดียม แพลตทินัม ที่ใช้ในท่อกรองไอเสีย (Catalytic Converer) ในรถยนต์ ทั้งนี้ เรามองว่า ยังคงต้องติดตามการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน/นาโต้ โดยมองว่า ทางการรัสเซียอาจตรึงกำลังทหารประชิดชายแดนยูเครนต่อไป จนกว่าที่ฝั่งตะวันตกจะยอมรับการประกาศเอกราชของ 2 ประเทศใหม่เช่นกัน ทำให้ประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน/นาโต้จะยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนต่อไปในระยะสั้น
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ก็เผชิญความผันผวนเช่นกัน โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย โดยล่าสุด บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1.86% และมีโอกาสปรับตัวลดลงต่อได้จากความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์มีโอกาสกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อ จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แม้จะอ่อนค่าลงในช่วงแรก หลังจากที่เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากรายงานข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ของยุโรปและอังกฤษที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็ได้หนุนให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก
โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 96.14 จุด นอกเหนือจากเงินดอลลาร์แล้ว ผู้เล่นในตลาดยังเลือกเข้ามาถือเงินเยน (JPY) ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ เงินเยนแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 114.6 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ความเสี่ยงปัญหาความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครนที่ยังร้อนแรงอยู่ยังได้หนุนให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,911 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาทองคำจะส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้ามาขายทำกำไรทองคำมากขึ้น ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนที่จะช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ แม้ตลาดโดยรวมจะยังปิดรับความเสี่ยงก็ตาม
สำหรับวันนี้ ตลาดจะเฝ้าระวังและติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและชาติพันธมิตร NATO อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งอาจบานปลายสู่สงครามและกดดันให้ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงอย่างหนักในระยะสั้นได้
ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Manufacturing & Services PMIs) เดือนกุมภาพันธ์ ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56 จุด และ 53 จุด (ดัชนีเกินระดับ 50 จุด หมายถึงภาวะขยายตัว)
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (Ifo Business Climate) เดือนกุมภาพันธ์ยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นแตะระดับ 96.5 จุด สะท้อนมุมมองของภาคธุรกิจต่อทิศทางสภาวะธุรกิจที่เป็นบวกมากขึ้น หลังการระบาดโอมิครอนเริ่มคลี่คลายลง ทว่าปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามยังคงเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงครามได้