ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "อ่อนค่า"ที่ระดับ  32.76 บาท/ดอลลาร์

11 ก.พ. 2565 | 07:53 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2565 | 16:52 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท "อ่อนค่า" คาดว่า ฝั่งผู้นำเข้ารอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วง 32.60 บาทต่อดอลลาร์  ฟากผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายในช่วง 32.80- 33.00 บาท/ดอลลาร์ 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.76 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า" ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.63 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าคาดจนหลุดแนวรับที่ได้ประเมินไว้ จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อทั้งหุ้นไทยและบอนด์ระยะสั้นอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้

 

ทว่า แนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด หลังข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ เร่งขึ้นสูงกว่าคาด ก็กลับมากดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงและหนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งเรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดนั้น จะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในระยะสั้นได้ อย่างไรก็ดี ควรจับตาแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่ายังคงเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิต่อเนื่องหรือไม่ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ไทย ก็จะเป็นแรงหนุนให้เงินบาทไม่อ่อนค่าไปมาก แม้ตลาดจะพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงและกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็ตาม

ทั้งนี้ เราคาดว่า ฝั่งผู้นำเข้าต่างจะมารอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วง 32.60 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนฝั่งผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วง 32.80 จนถึง 33.00 บาทต่อดอลลาร์ 

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.65-32.85 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินผันผวนรุนแรงและกลับมาปิดรับความเสี่ยง หลังเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม พุ่งขึ้นแตะระดับ 7.5% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 หนุนให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจหนุนให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดการเงินยังถูกกดดันจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด James Bullard (ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน FOMC Voter) ที่ได้ออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1.0% ภายในเดือนกรกฎาคมและยังสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยระหว่างการประชุมของเฟดเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวในระดับสูง โดยมุมมองดังกล่าวของ James Bullard ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ย 0.5% สูงขึ้นถึง 95% จากวันก่อนหน้าที่ตลาดมองโอกาสดังกล่าวเพียง 24% (จาก CME FedWatch Tool)

ภาวะการปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้กดดันให้ผู้เล่นในฝั่งสหรัฐฯ กลับมาเทขายหุ้นเทคฯและหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวกับแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -2.10% ส่วนดัชนีS&P500 ก็ปรับตัวลง -1.81% ทั้งนี้ หุ้นในกลุ่ม Cyclical ยังไม่ได้ปรับตัวลงไปมากนัก โดยเฉพาะหุ้นที่รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด 

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวลง -0.17% (ตลาดหุ้นยุโรปปิดก่อนช่วงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผันผวนหนัก) เนื่องจากตลาดจะรอรับรู้แนวโน้มเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าในวันนี้ ตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ เช่นกัน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่อาจเผชิญแรงขายหนักอีกครั้ง ทั้งนี้ เรามองว่า ยังคงต้องติดตามการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน/นาโต้ โดยมองว่า หากมีการถอนกำลังทหารจากทุกฝ่ายออกจากพื้นที่ ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีและอาจช่วยหนุนให้ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้มากขึ้น

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาดได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ล้วนปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นกว่า 10bps สู่ระดับ 2.04% สอดคล้องกับมุมมองของตลาดที่มองว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากถึง 6-7 ครั้งในปีนี้ และตลาดยังมองว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ 0.5% ในการประชุมเดือนมีนาคม

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนหนักในช่วงก่อนและหลังรับรู้รายงานเงินเฟ้อ CPI โดยสุดท้ายเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาดและภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด  ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 95.79 จุด นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,826 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า การที่ราคาทองคำยังไม่สามารถผ่านแนวต้านสำคัญและเผชิญแรงกดดันจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นทยอยเข้ามาขายทำกำไรทองคำมากขึ้นได้

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า แนวโน้มสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนที่อาจผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้วอาจช่วยให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (Uof Michigan Consumer Sentiment) เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแตะระดับ 67.5 จุด ทั้งนี้ ตลาดจะให้ความสนใจข้อมูลความคาดหวังเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ของผู้บริโภคทั้งในระยะ 1 ปี ข้างหน้าและระยะ 5 ปี ข้างหน้า ว่ามีการเร่งตัวขึ้นสูงไปจากเดิมมากขนาดไหน เพราะตลาดเริ่มมองว่า เฟดจะให้ความสนใจแนวโน้มความคาดหวังเงินเฟ้อเช่นกันและเชื่อว่าการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็เพื่อช่วยควบคุมให้ความคาดหวังเงินเฟ้อของผู้บริโภคไม่ได้เร่งตัวสูงจนน่ากังวล

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.68-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้น ทั้งเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก และหลายสกุลเงินในเอเชีย หลังจากที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงถึง 7.5% ในเดือนม.ค. (ซึ่งสูงสุดในรอบประมาณ 40 ปี) หนุนกระแสการคาดการณ์ถึงโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า  50 bps. ในการประชุม FOMC เดือนมี.ค.

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.65-32.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2564 ของอังกฤษ อัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของเยอรมนี ตลาดจนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ