ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ 32.72 บาท/ดอลลาร์

10 ก.พ. 2565 | 08:01 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2565 | 00:21 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอาจมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.72 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า"ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.77 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าคาดจนหลุดแนวรับที่ได้ประเมินไว้ จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อทั้งหุ้นไทยและบอนด์ระยะสั้นไม่น้อยกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท แต่เรามองว่า ในวันนี้ เงินบาทอาจมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งเราเริ่มเห็นสัญญาณการกลับตัวของเงินดอลลาร์ที่เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นและมีแนวโน้มอาจแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงก่อนรับรู้ข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้

 

อย่างไรก็ดี เงินบาทนั้นยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นแตะแนวต้านสำคัญแถว 1,830 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ทำให้เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก ในกรณีที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหนัก หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นมากกว่าคาด 

ทั้งนี้ เราคาดว่า ทั้งฝั่งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกอาจมีการปรับระดับรอซื้อ/ขายเงินดอลลาร์ หลังเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับลงมาก โดยคาดว่า ฝั่งผู้นำเข้าต่างจะมารอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วง 32.70บาทต่อดอลลาร์ ส่วนฝั่งผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วง 33.00 บาทต่อดอลลาร์

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.70-32.90 บาท/ดอลลาร์

 

ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคลายกังวลต่อแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งสะท้อนผ่านบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ยังเคลื่อนไหว sideways นอกจากนี้ตลาดยังได้แรงหนุนจากความหวังว่าการเจรจาระหว่างผู้นำฝรั่งเศสและผู้นำรัสเซียอาจช่วยลดความร้อนแรงของปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ได้ 

ภาวะการเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหนุนให้ในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.08% ส่วนดัชนีS&P500 ปรับตัวขึ้น +1.45% โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด รวมถึงความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การระบาดโอมิครอนได้ผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้วและทางการก็เริ่มปรับแผนการรับมือการระบาด เพื่อให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตร่วมกับโอมิครอนได้  

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นกว่า +1.81% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ อาทิ Volkswagen +6.1%, BMW +3.8% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นเทคฯ ที่ปรับตัวลงหนักในช่วงที่ผ่าน อาทิ Adyen +11.5%, Infineon Tech. +5.0%, ASML +3.9% หลังตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้ เรามองว่า ยังคงต้องติดตามการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน/นาโต้ โดยมองว่า หากมีการถอนกำลังทหารจากทุกฝ่ายออกจากพื้นที่ ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีและอาจช่วยหนุนให้ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้มากขึ้น

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 1.94% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น รายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันนี้ ว่าข้อมูลเงินเฟ้อจะเพิ่มโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าคาด อาทิ ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมีนาคม หรือ ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 5 ครั้ง ได้หรือไม่ ซึ่งเราคาดว่า ตลาดบอนด์อาจเผชิญความผันผวนมากขึ้นได้ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูล เงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ 

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมยังเคลื่อนไหว sideways โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) แกว่งตัวใกล้ระดับ 95.56 จุด แม้ว่าเงินดอลลาร์จะมีจังหวะอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในช่วงที่ตลาดเปิดรับความเสี่ยง แต่เงินดอลลาร์ก็สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในวันนี้  ซึ่งเรามองว่า ควรระวังความผันผวนของเงินดอลลาร์ทั้งช่วงก่อนรับรู้และหลังรับรู้ข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยหากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูงกว่าคาด กดดันให้ตลาดเชื่อว่าเฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ ก็อาจหนุนให้ เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นแต่ แต่หากเงินเฟ้อไม่ได้เร่งสูงไปกว่าคาดมาก ตลาดอาจลดคลายกังวลปัญหาเงินเฟ้อและการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด กดดันให้เงินดอลลาร์สามารถอ่อนค่าลง สอดคล้องกับภาพตลาดการเงินที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น 

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ โดยตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ (CPI) ในเดือนมกราคมจะเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 7.3% หนุนโดยราคาสินค้าในกลุ่ม Reopening อาทิ ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น และราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนานกว่าที่เฟดเคยคาดการณ์ไว้ และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น จะส่งผลให้เฟดเตรียมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 5 ครั้งในปีนี้ โดยการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในการประชุมเดือนมีนาคม ทั้งนี้ จุดที่น่าสนใจและอาจกระทบต่อตลาดการเงินได้คือโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว ซึ่งตลาดมองว่ามีโอกาสถึง 40% และตลาดอาจเชื่อในมุมมองดังกล่าวมากขึ้นได้ หากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาดและตลาดแรงงานฟื้นตัวแข็งแกร่ง 

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดคาดว่า แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย จะส่งผลให้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) เลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.50% จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีหรือเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาก  

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.72-32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแข็งค่าทดสอบแนว 32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้า โดยแม้เงินบาทจะมีแรงหนุนจากสัญญาณที่สะท้อนว่า ยังคงมีกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทย แต่กรอบการแข็งค่าในระหว่างวันน่าจะเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากตลาดยังอยู่ระหว่างรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่จะมีการเปิดเผยในคืนนี้
  
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.60-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 ข้อมูลยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนเดือนม.ค. ตลอดจนตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ