กกพ.ปรับขึ้นค่า FT ดันกำไร TPIPP โตต่อเนื่อง

09 ก.พ. 2565 | 18:29 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2565 | 01:29 น.

อานิสงส์ กกพ.ปรับขึ้นค่า FT รอบเดือนม๊.ค.-เม.ย.เป็น 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ดันมาร์จิ้นขายไฟฟ้าสูงขึ้น ส่งผลประกอบการ TPIPP ปี 65 ดีต่อเนื่อง ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 526 เมกกะวัตต์ ภายในปี 2567 พร้อมเตรียมก้าวสู่การเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียว 100%

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า บริษัทฯจะได้รับประโยชน์จากมาร์จิ้นการขายไฟฟ้าสูงขึ้น หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับค่าไฟฟ้าผันแปร(ค่า FT) สำหรับค่าไฟฟ้ารอบเดือนมกราคม-เมษายน 2565 อยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 19.26 สตางค์ต่อหน่วย จากรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 ทำให้ค่าไฟฟ้าขยับเพิ่มขึ้น 4.63%  จากงวดปัจจุบัน 

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

 

นายภัคพลกล่าวว่า TPIPP ยังเดินหน้ามุ่งขยายกำลังการผลิตและลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ตามแผนยุทธศาสตร์ 3-5 ปี โดยคาดว่า ผลประกอบการในปีนี้ ยังคงดีต่อเนื่องจากค่า FT ของค่าไฟฟ้าที่ขาย กฟผ. เพิ่มขึ้น 19.26 สตางค์ต่อหน่วย และการปรับปรุงประสิทธิภาพหม้อต้มน้ำ (Boiler) ทุกหม้อ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการใช้วัตถุดิบของหม้อต้มน้ำถ่านหิน โดยขยะที่ใช้เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นขยะสด 

 

โดยคาดว่าจะสามารถลดการใช้ถ่านหินได้ 970 ตันต่อวัน ภายในปี 2565 นี้ โดยปัจจัยดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น และจากรายได้ Carbon Credit ซึ่งจะสามารถชดเชยค่า Adder ของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ที่จะทยอยหมดอายุในปีนี้

 

ปัจจุบันบริษัทเป็นบริษัทที่มี Net Zero Carbon Emission และมี Carbon Credit ที่จะขายได้ประมาณ 6.61 ล้านตันต่อปี จากการใช้ขยะในการผลิตไฟฟ้า และบริษัทได้เดินหน้าเปลี่ยนแปลงโรงไฟฟ้าถ่านหิน 220 เมกะวัตต์ ในปัจจุบันให้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียว 100% โดยจะใช้เชื้อเพลิงขยะแทนเชื้อเพลิงถ่านหิน 100% ได้ในปี 2569 นี้ ส่งผลให้บริษัทจะมี Net Zero Carbon Emission และมี Carbon Credit ที่จะขายได้ประมาณ 12.45 ล้านตันต่อปี ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป 

นอกจากนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อขาย Carbon Credit ดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีกำไรสูงขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมการประชุมสมัชชาประเทศที่เมืองกลาสโกลว์ (COP26) และได้สัญญาที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในปริมาณ 46 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ตามสัญญาที่นายกฯไทยไปให้ไว้ที่ COP26 และจะเป็นประเทศที่มี Carbon Neutral ในปี 2608 โดยตลาดคาร์บอนในประเทศไทยกำลังถูกพัฒนาขึ้นในปัจจุบัน