อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ  33.00 บาท/ดอลลาร์

26 ม.ค. 2565 | 07:39 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2565 | 19:46 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวต้านสำคัญจะอยู่ในโซน 33.10-33.20 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 32.80-32.90 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.00 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า" ขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.05 บาทต่อดอลลาร์
 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าค่าเงินบาท ยังมีแนวโน้มผันผวนและแกว่งตัว Sideways ใกล้ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด เงินบาทอาจอ่อนค่าลงได้บ้าง จากภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดที่อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
 

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจจะไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก เพราะภาพตลาดผันผวนในปัจจุบันยังช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นหรือทรงตัวใกล้แนวต้านสำคัญ ทำให้เริ่มมีโฟลว์ขายทำกำไรทองคำซึ่งจะช่วยหนุนเงินบาทในฝั่งแข็งค่าได้
 

ทั้งนี้ เรามองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้   
 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.90-33.10 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ยังคงผันผวนหนัก โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงถูกกดดันจากความกังวลเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด รวมถึงความไม่แน่นอนของปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจที่ชะลอลง หลัง IMF ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงเหลือ +4.0% จาก +5.2% ก่อนหน้า ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงกว่า -2.28% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลง -1.22% ในขณะที่ ดัชนี Dowjones ย่อตัวลงเพียง -0.19% จากแรงหนุนหุ้นกลุ่ม Cyclical ที่ช่วยพยุงดัชนีไว้ อีกทั้งดัชนี Dowjones ยังมีสัดส่วนหุ้นเทคฯ ที่ไม่มาก 
 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นมาได้ราว +0.6% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มการเงินและพลังงาน อาทิ BNP Paribas +3.3%, Eni +3.2%, Santander +2.7% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ความกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงคราม อาจยังคงกดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปผันผวนต่อได้
 

ทว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นยุโรปอาจเริ่มเปิดโอกาสให้นักลงทุนทยอยเข้าซื้อ โดยในกรณีเลวร้ายสุด เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้น ตลาดอาจปิดรับความเสี่ยง แต่ข้อมูลในอดีตชี้ว่า สงครามจะกดดันตลาดการเงินในระยะสั้น ซึ่งหากเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนเริ่มชะลอลงในหลายประเทศ ก็จะช่วยหนุนให้ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนสามาถขยายตัวดีขึ้นและหนุนให้ตลาดหุ้นยุโรปสามาถกลับมาปรับตัวขึ้นได้ในที่สุด

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างเฝ้ารอผลการประชุมเฟด ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 1.77% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว อาจผันผวนและเสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนการประชุมเฟด ทว่า หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วกว่าคาดหรือส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าคาด บอนด์ยีลด์ก็อาจย่อตัวลงได้บ้าง
 

นอกจากนี้ ในระยะสั้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่คอยกดดันให้บอนด์ยีลด์ โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ระยะยาวยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ จนกว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะคลี่คลายลง
 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 95.95 จุด ทั้งนี้ แม้ว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์จะกดดันราคาทองคำ แต่ทว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและเลือกที่จะยังคงถือทองคำเพื่อหลบความผันผวนในตลาด ส่งผลให้ราคาทองคำ สามารถปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1,848 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งเราคาดว่า อาจเริ่มเห็นผู้เล่นบางส่วนเข้ามาทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ 
 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจ คือ การประชุมเฟด ซึ่งจะทราบผลการประชุมในช่วง 02.00 น. ของวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย โดยเราคาดว่า เฟดจะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปอย่างชัดเจน โดยเฟดอาจระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจชะลอลงบ้างจากปัญหาการระบาดของโอมิครอน
 

นอกจากนี้ เฟดอาจระบุว่า อัตราเงินเฟ้อได้เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้ ทำให้เฟดมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปมีความเหมาะสม อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดได้รับรู้การขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว แต่ตลาดเริ่มกังวลว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกได้มากกว่า 25bps รวมถึง ตลาดยังไม่มั่นใจว่า เฟดจะเริ่มดำเนินการลดงบดุลเมื่อไหร่และการลดงบดุลจะใช้วิธีการใด ในอัตราเท่าไหร่ต่อเดือน ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะจับตาการแถลงของประธานเฟดอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยและประเด็นการลดงบดุลของเฟดอย่างไร
 

ทั้งนี้ เราประเมินว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินของเฟดอาจส่งผลให้ตลาดการเงินยังคงผันผวนและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงในช่วงก่อนการประชุมเฟด 
 

นอกจากนี้ เรามองว่าควรติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่าจะสามารถคลี่คลายลงได้หรือไม่ โดยหากสุดท้ายการเจรจาเพื่อลดความร้อนแรงของปัญหาประสบความล้มเหลวและนำไปสู่สงคราม เรามองว่าตลาดการเงินอาจปิดรับความเสี่ยงหนักในระยะสั้น ทว่า สินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง เงินดอลลาร์ ทองคำ รวมถึงบอนด์ระยะยาว อาจปรับตัวขึ้นได้ดี เช่นเดียวกันกับ ราคาสินค้าพลังงาน อาทิ น้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.28 น.) แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.06 บาทต่อดลลาร์ฯ โดยแม้เงินบาทจะขยับแข็งค่าตามสัญญาณฟันด์โฟลว์ แต่กรอบการเคลื่อนไหวยังคงเป็นกรอบที่ค่อนข้างแคบ เนื่องจากตลาดยังคงรอติดตามท่าทีและแนวทางการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยเฉพาะในเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการปรับลดงบดุลจากผลการประชุม FOMC 25-26 ม.ค. นี้อย่างใกล้ชิด

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.85-33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 ผลการประชุมเฟด (25-26 ม.ค.) และข้อมูลยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ