เซ่นพิษโควิด-19 “อาคเนย์ประกันภัย” เตรียมเลิกกิจการ

22 ม.ค. 2565 | 12:03 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2565 | 19:04 น.
37.9 k

ประกันโควิด 1.14 ล้านฉบับระส่ำ หลังบอร์ด อาคเนย์ประกันภัย ไฟเขียวเลิกกิจการ ขอมติผู้ถือหุ้น 26 ม.ค.65นี้ ทนแบกรับประกันโควิดไม่ไหว เหตุยอดติดเชื้อเพิ่มจำนวนมาก แถมเจอเชื้อกลายพันธุ์ไม่หยุด เตรียมโอนพอร์ตประกันอื่นให้ อินทรประกันภัย ไม่รวมประกันโควิด

หลังจากที่บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกันภัยแห่งแรกของประเทศไทยกับพวกคือ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ข้อหา ออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการคำสั่งนายทะเบียน ที่ 38/2564  ห้ามบริษัทประกันวินาศภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย “เจอ จ่าย จบ” จนทำให้บริษัทประกันภัยได้รับความเสียหาย ซึ่งมีการไตร่สวนไปเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา

 

ล่าสุดบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด(มหาชน)ได้ส่งหนังสือถึงผู้ถือหุ้น เพื่อเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 ในวันพุธที่ 26 ม.ค.65 เวลา 14.00 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ระบบ Microsoft Teams เพียงอย่างเดียว เพื่อพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระการประชุม พร้อมด้วยความเห็นของคณะกรรมการในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 14 ม.ค.65  โดยวาระการประชุมของผู้ถือหุ้นคือ

วาระที่ 1 พิจารณาอนุมัติเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ตามที่บริษัทได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ตามเลขที่ใบอนุญาตประกันวินาศภัย ป.2/2551 ลงวันที่ 12 ธ.ค.2551 โดยบริษัทได้ถือปฏิบัติตามสัญญาประกันภัยและเงื่อนไขต่างๆ ที่มีต่อผู้เอาประกันภัยอย่างเคร่งครัดตามหลักธรรมาภิบาล

 

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 บริษัทมีกรมธรรม์ประกันภัยในความดูแลทั้งสิ้น  7,843,568 ฉบับ แบ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จำนวน 1,135,808 ฉบับ และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นๆ  6,707,760 ฉบับ  มีจำนวนผู้เอาประกันภัยทั้งสิ้น 10,466,624 ราย แบ่งเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จำนวน 1,851,921 ราย และผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่นๆ  8,614,703 ราย

อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงจากวันเริ่มคุ้มครองเป็นอย่างมาก โดยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ทวีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2563 อีกทั้งได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เชื้อโควิดมีการกลายพันธุ์ไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งทำให้เชื้อไวรัสดังกล่าวมีความสามารถในการแพร่ระบาดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

บริษัทได้พยายามทำหน้าที่ในฐานะผู้รับประกันภัยอย่างดีที่สุด  โดยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาอย่างเต็มความสามารถเป็นจำนวน โดยประมาณทั้งสิ้นถึง 8,245 ล้านบาท แต่ผลจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของบริษัทเป็นอย่างยิ่ง

 

ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ และหากบริษัท  ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาประกันภัยต่อที่มีอยู่กับบริษัทฯได้  บริษัทประเมินในเบื้องต้นว่า อาจต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อให้มีจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการรักษากรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 อยู่ต่อไป

 

ทั้งนี้ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด(มหาชน) หรือ TIC  ได้แสดงความจำนงในการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับภาระตามกรมธรรม์ของธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งหมดของไทยประกันภัย รวมถึงภาระของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บางส่วน ในวงเงินเบื้องต้น 7,000 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยของทั้งไทยประกันภัยและอาคเนย์ประกันภัย เป็นตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของสำนักงาน คปภ. ก่อนที่ TIC จะเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจประกันของบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หรือ TGH   

 

“การรักษากรมธรรม์ประกันโควิด  จะส่งผลให้บริษัทไม่เพียงจะไม่สามารถดูแลลูกค้าตามกรมธรรม์ประกันโควิด ได้เท่านั้น แต่ยังไม่สามารถดูแลลูกค้าตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าส่วนมากของบริษัท ตลอดจนไม่สามารถดูแลบุคลากร ซึ่งรวมไปถึงตัวแทนและนายหน้าประกันภัยมากกว่า 9,000 ราย ตลอดจนพนักงานลูกจ้างที่ประจำอยู่ในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศมากกว่า 75 สาขา ได้อีกต่อไปด้วย”

 

อย่างไรก็ตาม การเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย จะเป็นไปตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งกำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยที่ประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) โดยบริษัทจะดำเนินการตามแผนการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ก็ต่อเมื่อบริษัทได้รับอนุญาตจาก คปภ.ให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยแล้ว

 

ดังนั้น คณะกรรมการเห็นสมควรเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น พิจารณาอนุมัติการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย เพื่อประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรมประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสีย อันจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อลูกค้าผู้เอาประกันภัยทุกรายของบริษัทฯ และพนักงานตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องต่างๆ  ซึ่งจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบสูงสุด หากบริษัทยังคงประกอบกิจการอยู่ต่อไปท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง

 

วาระที่ 2 พิจารณาอนุมัติการโอนกิจการของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย ให้แก่ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น นอกเหนือจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิด  ภายหลังจากที่บริษัทได้ดำเนินการยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 และจัดการทรัพย์สินและหนี้สินบางส่วนของบริษัทแล้ว เพื่อเป็นหลักประกันการให้บริการอย่างต่อเนื่องแก่ลูกค้าผู้เอาประกันภัยทุกรายของบริษัท

 

“การโอนกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น นอกจากประกันภัยโควิด ให้ อินทรประกันภัย เป็นมาตรการที่จำเป็น ซึ่งจะช่วยให้บุคคลที่เกี่ยวข้องคือผู้เอาประกันภัยประเภทอื่น ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่  6,707,760 ฉบับ และผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนพนักงานและลูกจ้างของบริษัทได้รับการดูแลและเยียวยาอย่างเป็นธรรมสูงสุดในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้หากไม่ได้ดำเนินการตามแนวทางนี้อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้”