KBANKยึดหลักระมัดระวังตั้งสำรองฯ 40,332 ล้านบาทกำไรปี 64 กว่า 38,053 ล้านบาท

21 ม.ค. 2565 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2565 | 16:11 น.

กสิกรไทยแจ้งกำไรปี 2564 จำนวน 38,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.05%จากปีก่อนจำนวน 8,566 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจากการลดลงของสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตหรือ ECL 7.38% อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 159.08%

KBANKยึดหลักระมัดระวังตั้งสำรองฯ  40,332 ล้านบาทกำไรปี 64 กว่า 38,053 ล้านบาท

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย หรือKBANKเปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 กลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากที่หดตัวลงอย่างมากจากผลกระทบของโควิด-19 ในปี 2563 โดยการใช้จ่ายในประเทศได้รับแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐและการเร่งฉีดวัคซีน ขณะที่ทางการไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนการส่งออกเติบโตในระดับสูงได้ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก

 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอาจชะลอลงอีกครั้งในช่วงต้นปี 2565 ท่ามกลางความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทำให้ทางการไทยต้องมีการปรับมาตรการเพื่อดูแลสถานการณ์อีกครั้ง

 

ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2564 จำนวน 38,053 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 4 ปี 2564 จำนวน 9,901 ล้านบาท 

 

ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2564 จำนวน 38,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 8,566 ล้านบาท หรือ 29.05% ส่วนหนึ่งเกิดจากการลดลงของสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) จำนวน 3,216 ล้านบาท หรือ 7.38% โดยธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาตั้งสำรองฯ ในปี 2564 จำนวน 40,332 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นสำรองฯ ภายใต้หลักความระมัดระวัง และมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 สูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 159.08% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ที่อยู่ที่ระดับ 149.19% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดสำหรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่อาจชะลอลงอีกครั้งในช่วงต้นปี 2565 จากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมทั้งการดำเนินการเชิงรุกของธนาคารและบริษัทย่อยที่ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง 

 

นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 7,822 ล้านบาท หรือ 6.13% หลัก ๆ เกิดจากการให้สินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคารแก่ลูกค้าที่มีศักยภาพ และมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าโดยการเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติ รวมทั้งลูกค้าบางส่วนยังอยู่ภายใต้มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้ธนาคารยังคงต้องมีการบริหารจัดการดอกเบี้ยค้างรับอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.21%

 

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 1,910 ล้านบาท หรือ 4.17% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลง แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 2,312 ล้านบาท หรือ 7.01% หลัก ๆ จากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน และค่านายหน้ารับจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ในส่วนของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,048 ล้านบาท หรือ 1.50% เกิดจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายกิจกรรมทางการตลาดลดลง โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 43.49% 

 

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,103,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 จำนวน 444,601 ล้านบาท หรือ 12.15% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิ และการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่มีศักยภาพ รวมทั้งมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้า สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 3.76% โดยธนาคารมีการติดตามดูแลคุณภาพเงินให้สินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด ขณะที่สิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 3.93% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ 18.77% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่1 อยู่ที่ 16.49%