สรรพากรเร่งสรุปแนวปฏิบัติเก็บภาษีคริปโต

20 ม.ค. 2565 | 13:48 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2565 | 20:52 น.

สรรพากรเดินหน้าหารือ ธปท. กลต. และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล หาทางออกการจัดเก็บภาษีคริปโต ยันรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ทั้งนักเทรดและนักขุด คาดเสนอทางออกให้ระดับนโยบายได้ภายในเดือน ม.ค.นี้

วันนี้ (20 ม.ค. 65) กรมสรรพากร ได้หารือถึงแนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีคริปโต ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , ก.ล.ต. และ สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย  โดยแหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า ภายในสิ้นเดือนนี้ กรมฯจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อใช้ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะต้องยื่นแบบชำระภาษี ซึ่งสำหรับการยื่นแบบเงินได้บุคคลธรรมดาแบบกระดาษจะต้องยื่นภายในวันที่ 31 มี.ค.และส่วนการยื่นแบบออนไลน์จะต้องยื่นภายในวันที่ 8 เม.ย.นี้

 

อย่างไรก็ตามกรมฯ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย โดยดำเนินการผ่านสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะครอบคลุมผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักเทรด นักขุด ผู้ประกอบธุรกิจทั้งที่มีใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต รวมถึง รับความเห็นจากนักวิชาการด้านภาษีอากร เพื่อให้การปฏิบัติการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมีแนวปฏิบัติที่ชัดจนและมีความเห็นร่วมกัน

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นหลักที่ต้องมีการสำรวจความคิดเห็นหลัก คือ 1.วิธีการคำนวณต้นทุนของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล 2.จะสามารถใช้วิธีหักกลบผลจากกำไรหรือขาดทุนก่อนเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งแนวทางนี้เป็นข้อเสนอของฝั่งสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล และ 3.แนวทางการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆในอนาคต

 

“ตามหลักของกฎหมายแล้ว เราจะจัดเก็บภาษีจากผลกำไรจากการซื้อขายเท่านั้น ขณะที่ ฝั่งสมาคมเห็นว่า ควรมีการหักกลบ หากมีผลขาดทุนเกิดขึ้น ประเด็นนี้ ซึ่งเราก็ต้องมาสรุปแนวทางร่วมกัน ทั้งนี้ เกณฑ์ปฏิบัติใดหากไม่สามารถปฎิบัติได้จริง เราก็พร้อมที่จะแก้ไขกฎหมาย”

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเราก็ดำเนินการมาต่อเนื่อง และทุกปีก็มีการเสียภาษีดังกล่าว เพียงแต่ปีนี้ เราได้เพิ่มช่องที่มาของรายได้จากคริปโตเคอร์เรนซีไว้ด้วย ทำให้หลายฝ่ายเข้าใจว่า กรมฯเพิ่งจะเริ่มเก็บภาษีจากธุรกรรมการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว