รัฐบาลลุงตู่ 8 ปี กู้แล้ว 5.7 ล้านล้านบาท

28 ธ.ค. 2564 | 14:08 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2564 | 21:08 น.
1.8 k

คลังเดินหน้ากู้อีก 3 ปี 2.9 ล้านล้านบาทใน 3 ปี ขาดดุลต่อเนื่องปีที่ 20 จากปี 2550 หลังครม. ไฟเขียวแผนการคลังระยะปานกลาง สศค.แจงทำภายใต้สถานการณ์เลวร้ายสุด จากผลกระทบโควิด-19 ทบทวนทุกปี แถมมีช่องกู้เพิ่มได้ ทีดีอาร์ไอจี้รัฐตอบโจทย์ฟื้นเศรษฐกิจ

แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566-2569) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ก็ยังเป็นแผนการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง โดยที่ในปีงบประมาณ 2566 ขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2567  ขาดดุล 7.1 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2568 ขาดดุล 7.23 แสนล้านบาท และปีงบประมาณ 2569 ขาดดุล 7.36 แสนล้านบาท

 

ดังนั้นรวม 3 ปีจากนี้ไป รัฐบาลก็ยังต้องกู้เงินรวม 2.864 ล้านล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ภายใต้สมมติฐานว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566-2569 ขยายตัว 2.8-4.2% โดยปี 2566 ขยายตัว 3.2-4.7% (ค่ากลาง 3.7%)ปี 2567 จะขยายตัว 2.9-3.9% (ค่ากลาง 3.4%) และปี 2568-2569 จีดีพีจะขยายตัว 2.8-3.8% (ค่ากลาง 3.3%)

 

ทั้งนี้ หากนับรวมจากการเข้ามาบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 สิ่งแรกที่ดำเนินการคือจัดทำงบประมาณปี 2558 ซึ่งเป็นงบขาดดุล 2.5 แสนล้านบาทและยังขาดดุลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และในระหว่างทางเองยังมีการจัดทำงบประมาณกลางปีเพิ่มอีกด้วย เช่นปีงบประมาณ 2559 ทำงบกลางปีเพิ่ม 5.6 หมื่นล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 อีก 1.9 แสนล้านบาท และงบประมาณปี 2561 ทำงบกลางปีเพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท 

รัฐบาลลุงตู่ 8 ปี กู้แล้ว 5.7 ล้านล้านบาท

ภายหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 รัฐบาลยังมีการปรับลดงบคืนต้นเงินกู้ลง 35,303 ล้านบาทโอนเข้างบกลาง เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และยังกู้เพิ่มเติมอีก 214,093 ล้านบาทรองรับรายจ่ายสูงกว่ารายได้ จากการจัดเก็บรายได้ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายจากผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน ดังนั้นเมื่อรวมช่วง 8 ปีของการเข้ามาบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์มีการกู้เงินแล้ว 4.2 ล้านล้านบาทอและหากรวมกับเงินกู้ตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) อีก 2 ฉบับ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาทแล้ว รัฐบาลได้กู้เงินถึง 5.7 ล้านล้านบาท  

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แผนบริหารหารคลังในระยะปานกลาง ระหว่างปี 2566-2569 ได้ประเมินสถานการณ์กรณีเลวร้ายของการระบาดของโควิด-19 การล็อกดาวน์ และกรณีที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจนไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้แล้ว ซึ่งแผนดังกล่าวได้เปิดช่องให้สามารถกู้เงินได้กรณีที่จำเป็นจากการขยายกรอบหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ของจีดีพี รวมทั้งยังมีงบกลางฉุกเฉินที่สามารถนำมาใช้ได้

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)

“ยอมรับว่า จากสถานการณ์และความไม่แน่นอน ทำให้ยังต้องตั้งงบขาดดุล แต่หากสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งเศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะต้องปรับลดการขาดดุลลง ขณะเดียวกันตามแผนยังกำหนดเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐ ผ่านมาตรการภาษีใหม่ๆ ที่จะเริ่มทยอยออกมาด้วย”นายพรชัย กล่าว
 อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการกำหนดแผนระยะปานกลางไว้แล้ว แต่กฎหมายได้กำหนดให้มีการประชุมทบทวนแผน เพื่อประเมินสถานการณ์ที่ผ่านมาและสถานการณ์ในอนาคตทุกปี อย่างช้าภายใน3 เดือนหลังสิ้นปีงบประมาณแต่ละปีด้วย

 

ด้านดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)และได้รับทุนสนับสนุนจากวช.ระบุว่า จากแผนการคลังระยะปานกลางที่ระบุถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้น เป็นมุมมองที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้าเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่ขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้ว โดยใช้เวลาเพียง 1-2 ปีเท่านั้น  

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

 

ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลา 3-4 ปี ซึ่งถือว่าดีเลย์และสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำขณะนี้คือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นหลัก มีการกู้ เอาเงินในอนาคตมาใช้ โดยไม่ได้ดูว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างไร

 

ขณะที่การตั้งงบประมาณขาดดุลของไทย ดร.นณริฏ กล่าวว่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์เมื่อเศรษฐกิจดี จะต้องตั้งงบเกินดุลเพื่อชะลอไม่ให้เศรษฐกิจโตเร็วจนเกินไป ขณะเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจชะลอ ก็ต้องตั้งงบขาดดุลเพื่ออัดเม็ดเงิดกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลของไทยที่มาทุกยุค มักตั้งงบขาดดุลและอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

 

“การตั้งงบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษกิจมาโดยตลอด ทำให้ไทยติดบ่วงในการกระตุ้นเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ เหมือนเราต้องใช้ยาสเตียรอยด์ไปเรื่อยๆ และรัฐบาลปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ จึงเกิดเครื่องหมายคำถามว่า แม้สถานการณ์ขณะนี้ที่ทำให้ต้องตั้งงบขาดดุล แต่เงินที่ใส่เข้าไป เอาไปใช้ทำอะไรบ้าง นี่คือคำถามที่รัฐบาลต้องตอบให้ได้”ดร.นณริฏ กล่าว

 

ทั้งนี้งบประมาณขาดดุลที่ตั้งไว้และมีการกู้เงินเพื่ออัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดออกมาในรูปแบบของขวัญปีใหม่นั้น รัฐบาลได้มองหรือไม่ว่า จะทำให้ภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยจะกลับมาเข้มแข็งได้อย่างไร จะสามารถต่อยอดดิจิทัล 5จี ที่เปิดประมูลได้อย่างไร หรือจะพัฒนาตัวจักรใหม่ อย่างเช่น รถไฟจีน-ลาว ที่ยังกังวลกลัวสินค้าเกษตรจากลาวจะทะลักเข้าไทย ซึ่งตามหลักแล้วไม่มีใครตีตู้โบกี้รถไฟเปล่ากลับอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนที่ดีกว่าไทย ยังถือเป็นโอกาสในการส่งสินค้าของไทยไปขายยังจีนได้อีกด้วย

 

“รัฐบาลต้องตอบโจทย์ โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์กระแสโลกต่างๆได้ มีแต่พูดถึงเรื่องการจัดเก็บรายได้ เรื่องภาษี ที่เป็นการรีดเลือดจากปู รีดเลือดจากเศรษฐกิจเดิมที่ยังไปต่อไหว ซึ่งไม่มีความยั่งยืนในระยะยาว”ดร.นณริฏ กล่าว 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,743 วันที่ 26 - 29 ธันวาคม พ.ศ. 2564