อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ 33.68 บาท/ดอลลาร์

23 ธ.ค. 2564 | 07:34 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2564 | 14:35 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้มผันผวนและแกว่งตัว Sideways ในระยะสั้น แนะจับตาแรงขายสินทรัพย์ไทยจากฝั่งนักลงทุนต่างชาติ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.68 บาทต่อดอลลาร์"แข็งค่า"ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.765 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนและแกว่งตัว Sideways ในระยะสั้นนี้ อย่างไรก็ดียังคงต้องจับตาแรงขายสินทรัพย์ไทยจากฝั่งนักลงทุนต่างชาติ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะบอนด์ระยะสั้น เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็เริ่มจำกัดลง และมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ของราคาทองคำ (ลุ้นโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท)


อนึ่ง เงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้ส่งออกต่างรอปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนแนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ธุรกรรมในช่วงปลายปีอาจเริ่มเบาบางลง ทำให้ตลาดค่าเงินอาจมีความผันผวนสูงได้ หากมีโฟลว์ธุรกรรมขนาดใหญ่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นฝั่งซื้อหรือขายเงินดอลลาร์

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.75 บาท/ดอลลาร์


ความหวังของผู้เล่นในตลาดการเงินที่มองว่า แม้โอมิครอนจะระบาดได้ดีกว่า COVID-19 สายพันธุ์อื่นๆ แต่อาจมีความรุนแรงไม่มาก อีกทั้งการเร่งแจกจ่ายวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนบูสเตอร์อาจช่วยลดความเสี่ยงการป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ ดังจะเห็นได้จากยอดผู้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตในหลายประเทศที่ทรงตัว สวนทางกับยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น

 
ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Nasdaq ปิดตลาด +1.18% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวขึ้น +1.02% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) เดือนธันวาคมที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 115.8 จุด  

เช่นเดียวกันกับฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็รีบาวด์ขึ้นราว +1.01% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical/Reopening theme รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่เดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อ อาทิ Airbus +4.0%, Adyen +3.2%, Louis Vuitton +2.0%, ASML +2.0%


ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดจะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง แต่โฟลว์การทำธุรกรรมของผู้เล่นในตลาดเริ่มเบาบางลงเนื่องจากใกล้ช่วงวันหยุดคริสต์มาส ทำให้บอนด์ยีลด์10 ปี สหรัฐฯ ยังแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.46% ซึ่งเราคงมองว่า หากตลาดการเงินกลับมาคึกคัก


อีกครั้งหลังช่วงเทศกาลคริสต์มาสและวันหยุดสิ้นปี บอนด์ยีลด์ยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ตามแนวโน้มการใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกและภาพของตลาดที่จะกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาการระบาดของโอมิครอน 


ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักตามการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อย่างเงินดอลลาร์ลง ซึ่งล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 96.08 จุด 


ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ รีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,805 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง แต่เราคงมองว่า แนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด รวมถึง ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดจะกดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อแรงได้ยาก และ Upsides ของราคาทองคำเริ่มจำกัด 


สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใสต่อ หนุนโดยการบริโภคภาคเอกชนที่สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ยอดใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Spending) เดือนพฤศจิกายนที่จะขยายตัวราว +0.6% จากเดือนก่อนหน้า 

นอกจากนี้ การใช้จ่ายของคนอเมริกันยังจะได้แรงหนุนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) ในเดือนธันวาคม ที่ล่าสุดออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอาจกดดันการบริโภคในระยะสั้นได้ ซึ่งตลาดก็มองว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนพฤศจิกายน ก็มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 5.4% 


ทั้งนี้ การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จากปัญหาด้าน Supply Chain ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เฟดปรับท่าทีพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น


ส่วนในฝั่งไทย ตลาดประเมินว่ายอดการส่งออก (Exports) ในเดือนพฤศจิกายน มีแนวโน้มที่จะโตกว่า +17.5%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) อาจโตขึ้นกว่า +23.0%y/y กดดันให้ดุลการค้าอาจขาดดุลเล็กน้อย ทั้งนี้ การขาดดุลการค้าเล็กน้อยอาจไม่ได้กดดันเงินบาทมากนัก