ดิจิทัลซัพพลายเชน สินเชื่อสำหรับธุรกิจ-เอสเอ็มอี

15 ธ.ค. 2564 | 13:08 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2564 | 20:20 น.

ธปท.หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดึงข้อมูลการค้าและชำระเงินพิจารณาสินเชื่อสำหรับธุรกิจ “ Digital Supplychain Finance”

ธปท.ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ ดึงข้อมูลการค้าและชำระเงินปล่อยสินเชื่อ Digital Supplychain Finance หวังตอบโจทย์SMEsเข้าถึงแหล่งเงินทุน

 

ในยุคที่โลกเศรษฐกิจและการเงินต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากกระแสดิจิทัล ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เร่งส่งเสริมและผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้พัฒนาประสิทธิภาพบริการทางการเงิน ให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินในหลากหลายรูปแบบ

 

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ “การเปิดตัวบริการ Digital Supplychain Finance” โดยระบุว่าจากความสำเร็จของการชำระเงินดิจิทัลในภาคประชาชน  ตัวอย่างที่สำคัญ คือ การพัฒนาระบบพร้อมเพย์

 

ภายใต้โครงการ National e-Payment ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการชำระเงินดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้การโอนเงินและชำระเงินของคนไทยเป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ถูกลง สามารถต่อยอดบริการได้หลากหลายและเพิ่มประโยชน์ในวงกว้าง เช่น การใช้ QR code เพื่อชำระเงิน

“ระบบพร้อมเพย์” จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนของการชำระเงินของคนไทย และเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันการชำระเงินดิจิทัลให้เป็นทางเลือกหลัก สะท้อนจากการเติบโตที่รวดเร็วของการชำระเงินดิจิทัล ทั้งในเชิงจำนวนและมูลค่าของการใช้งาน โดยเฉพาะการทำธุรกรรมผ่าน mobile banking ที่ถูกจัดอยู่ในอันดับ 1 ของโลก

 “ มาถึงวันนี้ ผมขอถือโอกาสพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ ภายใต้โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ ภาคธนาคาร และภาคธุรกิจ ในการเชื่อมโยงข้อมูลการค้าและการชำระเงินของภาคธุรกิจ เข้ากับข้อมูลผู้ให้บริการทางการเงินและระบบภาษีของภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาของการทำธุรกิจแบบเดิม ที่ผู้ประกอบการต้องนำส่งเอกสารทางการค้าในรูปแบบกระดาษให้กับคู่ค้า ต้องตรวจสอบการชำระเงินแยกตามรายการ รวมไปถึงต้องนำส่งและจัดเก็บเอกสารทางภาษี ซึ่งจะมีทั้งต้นทุนการบริหารจัดการเอกสาร และต้นทุนเวลาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องในทุกขั้นตอน”

“โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business" จะนำกระบวนการทั้งหมดเข้าสู่ระบบดิจิทัล ช่วยลดต้นทุน ลดข้อผิดพลาด การตรวจสอบทำได้ง่าย และจะทำให้ได้รับเงินเร็วขึ้น รวมทั้งธุรกิจสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้สนับสนุนการขอสินเชื่อหมุนเวียนได้ด้วย ซึ่งหลายประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานลักษณะเดียวกันนี้

 

เช่น ประเทศอังกฤษ สามารถลดต้นทุนการจัดการเอกสารต่อรายการได้กว่า 65%  ในประเทศสหรัฐอเมริกา ธุรกิจได้รับเงินตรงเวลามากขึ้นกว่าเท่าตัว ฝรั่งเศสลดค่าจัดส่งเอกสารได้ถึง 96% และลดเวลาของกระบวนการทั้งหมดลงจาก 15 วันเหลือเพียง 3 วัน 

โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business นี้ ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก คือ บริการด้านการค้าและการชำระเงิน ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการเชื่อมข้อมูลข้างต้นอย่างครบวงจร

 

และส่วนที่สอง ที่จะเริ่มเปิดให้บริการได้ในวันนี้ คือ บริการด้านสินเชื่อ หรือ Digital Supplychain Finance  ที่จะนำข้อมูลจากบริการด้านการค้าและการชำระเงินมาใช้ในการตรวจสอบเอกสารสำหรับการให้สินเชื่อ ซึ่งด้วยระบบเชื่อมโยงข้อมูลที่ไม่ซับซ้อน จึงสามารถเปิดใช้บริการนี้ได้ก่อนในการให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด19

 

“ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บริการ Digital Supply chain Finance จะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs ให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ และพร้อมปรับตัวสู่โลกใหม่ ซึ่งถ้าจะเปรียบ “พร้อมเพย์” เป็น game changer ที่ช่วยผลักดันการชำระเงินดิจิทัลของภาคประชาชน “โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business” ที่มี บริการ Digital Supplychain Finance เป็นองค์ประกอบ ก็จะสามารถเป็น game changer ที่จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กระแสดิจิทัลได้ดีเช่นกัน”ผู้ว่าการธปท.กล่าวในที่สุด