ลุ้นฟื้น “ช้อปดีมีคืน” คลัง เตรียมชงของขวัญปีใหม่ ครม. 21 ธ.ค.นี้

10 ธ.ค. 2564 | 12:56 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2564 | 20:04 น.
6.7 k

คลัง เตรียมชง ครม. มอบของขวัญปีใหม่ให้คนไทย 21 ธ.ค.นี้ หวังกระตุ้นการบริโภคปลายปีไม่ให้สะดุด ลุ้นฟื้นช้อปดีมีคืน ลดหยอนภาษีปีหน้า ขณะที่คนละครึ่งเฟส 4 อยู่ระหว่างประเมินการใช้จ่าย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ โดยมาตรการหลักจะช่วยเรื่องการบริโภคไม่ให้สะดุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ ซึ่งจะเน้นการลดหย่อนภาษี และจะนำมาดำเนินการแทนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งยอมรับว่ายังไม่ได้รับความนิยมมากนัก 

 

“ของขวัญปีใหม่เราจะช่วยการใช้จ่ายหลายโครงการ โดยเฉพาะกลุ่มมีกำลังซื้อ ที่ขณะนี้เริ่มอยากออกมาจับจ่ายใช้สอย ยังระบุไม่ได้ว่าจะใช้ชื่อมาตรการอะไร แต่จะเป็นการลดหย่อนภาษี ส่วนโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 นั้น จะดูอัตราการใช้จ่ายของประชาชนว่าปรับดีขึ้นมากน้อยอย่างไร ซึ่งขณะนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ในส่วนการแพร่ระบาดโควิด สายพันธุ์โอมิครอน รัฐบาลยังคงเข้มงวดในมาตรการสาธารณะสุข เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และเชื่อมั่นว่าจะไม่ทำให้กิจกรรมในช่วงปลายปีสะดุด แต่ทั้งนี้รัฐบาลยังคงติดตามความรุนแรงของเชื้อไวรัสตัวนี้อย่างใกล้ชิด  พร้อมยืนยันว่าในต้นปี 2565 จะมีการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่แน่นอน ซึ่งเป็นการทบทวนผู้ได้รับสิทธิ และเพื่อเป็นการดูแลประชาชนระดับฐานราก รวมทั้งจะมีความชัดเจนในนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในต้นปี 2565 ด้วย

นอกจากนี้ นายอาคม ยังได้กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจในปี 2565 ว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยคาดเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4% และในปี 66 จะมีแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวเข้ามาเสริม จะทำให้มีแรงฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ซึ่งวิกฤตโควิดครั้งนี้ ถือว่าเศรษฐกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานอย่างน้อย 3 ปี นับต้องแต่เกิดวิกฤต เนื่องจากเป็นวิกฤตที่สร้างผลกระทบกับประชาชนฐานราก สังคมส่วนรวม ภาคธุรกิจ ซึ่งต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2552  ซึ่งเป็นวิกฤตทางการเงินที่ใช้เวลาเพียง 2 ปี ในการฟื้นตัวอย่างเต็มที่

 

โดยเศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัวได้ ผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่ 1. การส่งออก ที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง 2. เม็ดเงินจากภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบ 1ล้านล้านบาท มาจากเม็ดเงินจากงบประมาณลงทุนของภาครัฐ 6 แสนล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้านบาท และอีก 1 แสนล้านบาท จะมาจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่ 2 แสนล้านบาท  3.การลงทุนภาคเอกชน โดยปี 2563-2564 ที่ผ่านมา แม้มีวิกฤตแต่ภาคเอกชนยังมีการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และ 4. การบริโภค โดยรัฐจะเข้าไปสร้างความมั่นใจเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้จ่าย