อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า"ที่ระดับ 33.85 บาท/ดอลลาร์

07 ธ.ค. 2564 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2564 | 17:29 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าต่อ ตามแรงขายสินทรัพย์ไทย เหตุกังวลปัญหาการระบาดของ Omicron แนวต้านสำคัญจะอยู่ที่ระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.85 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า"ขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.89 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน   ธนาคารกรุงไทย   ระบุว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงจากทั้งความกังวลการระบาด Omicron รวมถึงแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด

 

สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) สหรัฐฯ ซึ่งอาจสนับสนุนให้เฟดประกาศเร่งลดคิวอีได้ นอกจากนี้ ความกังวลปัญหาการระบาดของ Omicron จะยังคงกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินต่อในช่วงนี้ จนกว่าจะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม

ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ว่าจะปรับตัวขึ้นในอัตราเร่งขนาดไหนและเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจหนุนให้เฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว อาทิ เฟดอาจปรับลดคิวอีเพิ่มขึ้นและสามารถยุติการทำคิวอีได้ในเดือนมีนาคมปีหน้า

 

ตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนพฤศจิกายน อาจเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 6.7% โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยหนุนให้ราคาสินค้ากลุ่ม Reopening (อาหารนอกบ้าน, การเดินทาง, ค่าที่พัก, ค่ารถมือ 1 และ มือ 2) ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาบ้านและค่าเช่าที่อาศัยก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ช่วยหนุนให้ อัตราเงินเฟ้อยังปรับตัวขึ้นต่อได้

 

 

ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อหรือราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงความกังวลการระบาดของ Omicron อาจสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคได้ ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย U of Michigan (Consumer Sentiment) เดือนธันวาคม ที่อาจปรับตัวลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 67 จุด

 

ฝั่งยุโรป – ตลาดมองว่า สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของ COVID ที่ยังคงรุนแรงอยู่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะ เยอรมนี รวมถึงความกังวลต่อแนวโน้มการระบาดของ “Omicron” อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจยุโรปส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจสะท้อนผ่านความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุน (Sentix Investors Confidence) ในเดือนธันวาคม ที่อาจปรับตัวลดลงสู่ระดับ 12 จุด จาก 18.3 จุด ในเดือนก่อนหน้า

 

 เช่นเดียวกันกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนธันวาคม ก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลงสู่ระดับ 25 จุด จาก 31.7 จุด สะท้อนว่า บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันต่างมีความกังวลมากขึ้นว่า การระบาดของ COVID ในปัจจุบันและความเสี่ยงการระบาดของ Omicron อาจทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงได้ หากรัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวจะกดดันโมเมนตัมการฟื้นตัวเศรษฐกิจของยุโรป ทำให้ สินทรัพย์ในฝั่งยุโรป รวมถึง เงินยูโร (EUR) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นหรือแข็งค่าไปได้มากนัก

 

ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโซนเอเชีย ผ่านรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า ซึ่งตลาดมองว่า ยอดการส่งออกของจีนในเดือนพฤศจิกายนจะขยายตัวได้กว่า +18%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา สอดคล้องกับรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีนที่ยอดคำสั่งซื้อเพื่อส่งออกขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น นอกจากนี้ ยอดการนำเข้าก็จะขยายตัวราว 20%y/y ซึ่งจะหนุนการฟื้นตัวของภาคการส่งออกประเทศคู่ค้าสำคัญจีนอย่างไทยเช่นกัน

 

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางในเอเชีย ซึ่งตลาดประเมินว่า ความเสี่ยงการระบาดของ Omicron อาจทำให้บรรดาธนาคารกลางในเอเชียยังไม่รีบเร่งปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เว้นว่าจะเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรง โดยในส่วนของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) รวมถึงธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ก็มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% และ 4.00% ตามลำดับ เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

 

ฝั่งไทย – ตลาดจะจับตาสถานการณ์การระบาด COVID-19 อย่างใกล้ชิด หลังประเทศไทยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อ Omicron แม้ว่า ตลาดอาจยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง จากความกังวลการระบาดของ Omicron ซึ่งภาพดังกล่าวสามารถเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าให้กับเงินบาทได้ แต่เรามองว่า ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ ณ ปัจจุบันซึ่งชี้ว่า ความรุนแรงของ Omicron ยังไม่ได้น่ากลัวมากนัก แม้จะสามารถแพร่ระบาดได้ดีกว่า Delta ก็ตาม อาจพอช่วยลดความกังวลของผู้เล่นในตลาดได้บ้าง อีกทั้ง อัตราการฉีดวัคซีนในไทยก็มีความคืบหน้าไปมากพอสมควร (ครบ 2 เข็ม ราว 64%) ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของการระบาดระลอกใหม่ได้ และอาจทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดมาก  

 

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าต่อ ตามแรงขายสินทรัพย์ไทยจากความกังวลปัญหาการระบาดของ Omicron อนึ่งเรามองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้ส่งออกต่างรอขายเงินดอลลาร์ และธปท. อาจเข้ามาช่วยดูดซับความผันผวนค่าเงินที่สูงขึ้นเร็วในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญไปได้ ในเชิงเทคนิคัล เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ถึงระดับ 34.15 และ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ได้

 

ส่วนเงินดอลลาร์อาจเคลื่อนไหว sideways โดยปัจจัยหนุนยังเป็นโอกาสเฟดเร่งลดคิวอี ซึ่งการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อจะยิ่งเพิ่มโอกาสดังกล่าว ในขณะที่ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยหรือ Safe Haven ท่ามกลางความกังวลการระบาด Omicron อาจไม่ได้ช่วยหนุนเงินดอลลาร์มากนัก โดยเฉพาะในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดความกังวลการระบาดของ Omicron ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือ พันธบัตรรัฐบาล รวมถึง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และเงินสวิสฟรังก์ (CHF) มากกว่าถือเงินดอลลาร์

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.60-34.00 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-33.95 บาท/ดอลลาร์

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.86-33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดในประเทศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 33.89 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ จึงทำให้ยังคงมีแรงกดดันด้านอ่อนค่าต่อเนื่องจากสัญญาณการขายพันธบัตรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ น่าจะมีแรงหนุนต่อเนื่องจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทยอยเปลี่ยนท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินมาเป็นคุมเข้มด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปีข้างหน้า หากมีการประกาศเร่งลดวงเงิน QE ในการประชุม FOMC 14-15 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะย่อมจะทำให้กระบวนการ QE Tapering จบเร็วขึ้น
  
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.75-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่  ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ประกอบด้วย 
ตัวเลขการส่งออกของจีนในเดือนพ.ย.