บสย. กางแผน ปี 65 พร้อมรับมือ Green Economy

04 ธ.ค. 2564 | 16:30 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2564 | 23:30 น.

บสย.เปิดแผนปี 65 ตั้งเป้าค้ำประกัน 1.2 แสนล้านบาท เดินหน้าศึกษารูปแบบใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับเทรนด์ธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทั้งคำประกันสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม เตรียมรับมือ Green Economy

ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)ต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs และรายย่อยเข้าถึงสภาพคล่อง ตั้งแต่วงเงิน 10,000 บาทจนถึง 150 ล้านบาท โดยเฉพาะเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มียอดค้ำประกันสินเชื่อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ภายใต้การนำทีมของ นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไปของบสย.

 

นางวสุกานต์ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนงานค้ำประกันสินเชื่อปี 2565 ว่า ภารกิจสำคัญคือ การบริหารความเสี่ยงทั้งในแง่ของภาระค้ำประกันที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPG) กับการจ่ายชดเชยที่ถ่วงน้ำหนักระหว่างพอร์ตค้ำประกันของบสย.ที่ขยายตัวขึ้นและประคองกิจการให้คนตัวเล็กมีที่ยืนในระบบเศรษฐกิจ

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)

การค้ำประกันสินเชื่อปีนี้  โครงการ PGS9 มีความคืบหน้าไปแล้ว 74,000 ล้านบาท คงเหลือวงเงินเกือบ 30,000 ล้านบาท ที่จะทำต่อเนื่องในปีหน้า ส่วนการค้ำประกันสินเชื่อภายใต้สินเชื่อฟื้นฟูเฟส 2 ในสัปดาห์แรกเดือนพฤศจิกายน มียอดค้ำประกันเข้ามา 18,000 ล้านบาท น่าจะทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ขณะที่เฟสแรก มียอดค้ำประกัน 95,000 ล้านบาท โดยยังค้างอยู่กับธนาคารอีก 3,000-4,000 ล้านบาท หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)อนุมัติแล้ว

 

ขณะที่การบริหาร NPG บสย.และธนาคารพันธมิตรจะพยายามช่วยเหลือลูกค้าให้อยู่รอดมากขึ้น โดยกระตุ้นให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะมีการจ่ายค่าประกันชดเชย โดยปีนี้จ่ายค่าประกันชดเชยไม่มากประมาณ 8,000 ล้านบาท เพราะโครงการค้ำประกันที่มีวงเงินใหญ่ยังเข้ามาไม่มาก เพราะเพิ่งจะมีโครงการ PGS8 เข้ามา ซึ่งมี NPG 432 ล้านบาท จากลูกหนี้ราว 1,400 ราย ส่วนยอดจ่ายชดเชยสะสมรวม 60,000 ล้านบาท จากยอดคงค้างค้ำประกันสะสมกว่า 5.27 แสนล้านบาท

สำหรับแผนปีหน้าบสย.ได้เสนอแผนดำเนินธุรกิจต่อกระทรวงการคลังแล้ว โดยตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายรัฐและโครงการค้ำประกันสินเชื่อโดยงบประมาณของบสย. ซึ่งไม่รวมสินเชื่อภายใต้พ.ร.ก.ฟื้นฟูของธปท.

การตั้งสำรองค่าประกันชดเชยภาระค้ำประกันโครงการ PGS

“สินเชื่อฟื้นฟูจะขึ้นกับธปท. อย่างปีนี้เมื่อรวมสินเชื่อฟื้นฟูของธปท.1.14 แสนล้านบาท ทำให้ยอดค้ำประกันสินเชื่อรวมของบสย.ทะลุเป้าและสูงกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ของบสย.ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และจะกระจายถึงผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ 87-88% และสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) 13%” นางวสุกานต์ กล่าว

 

ส่วนปีงบประมาณ 2565 ยังมีโครงการรัฐที่ต่อเนื่องจากโครงการ PGS9  ซึ่งทุกปีจะมีการเสนอโครงการต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จึงยังไม่เสนอโครงการ PGS10 แต่บสย.พยายามคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเสนอขอรัฐบาลเพิ่มการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มไมโคร(รายย่อย 5) อีกราว 20,000 ล้านบาท จากปกติวงเงินเดิมอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้บสย.พยายามจะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการ SMEs ในรายที่ยังเข้าไม่ถึงระบบสินเชื่อ เพราะยังขาดหลักประกัน ซึ่งยังมีในระบบอีกมากที่ต้องการสภาพคล่องและการเข้าค้ำประกันสินเชื่อ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบายให้บสย.ค้ำประกันสินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งนวัตกรรมนั้นสามารถเติบโตได้เร็วและจะช่วยระบบเศรษฐกิจได้มาก

 

นอกจากนั้น บสย.ต้องปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับการเปลี่ยน แปลงของเทรนด์ธุรกิจหรือเทรนด์ของโลก โดยจะค้ำประกันในอีกรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารหรือการระดมทุนทางเลือกต่างๆ เช่น การออก Green Bonds หรือลดการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก นอกจากโครงการปล่อยสินเชื่อที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสังคมและธรรมาภิบาล (ESG)

 

“ต่อไปบสย.จะออกแบบผลิต ภัณฑ์ในการค้ำประกันให้สอดคล้องกับธุรกิจและผู้ประกอบการ โดยอยู่ระหว่างศึกษาดัชนีชี้วัดสำหรับธุรกิจใหม่ๆที่เป็นไปได้ หรือถ้าเกณฑ์ทำได้ก็อาจทำเลย รวมถึงศึกษารูปแบบการค้ำประกันให้ล้อกับการปล่อยสินเชื่อแบงก์เพื่อรองรับ Green  Economy ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรรายใหญ่ทั้งธุรกิจและไมโคร คาดว่าจะเปิดตัวปลายปีนี้” นางวสุกานต์ กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,736 วันที่ 2- 4 ธันวาคม พ.ศ. 2564