‘อนันดา’ เตรียมออกหุ้นกู้ไม่เกิน 5,000 ล้าน ขายต้นปี 65

30 พ.ย. 2564 | 18:01 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2564 | 01:04 น.

อนันดา เตรียมออกหุ้นกู้ ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ขายให้นักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันในช่วงต้นปี 2565 มั่นใจได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน จากภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มดีขึ้นชัดเจน แถมธปท.ผ่อนเกณฑ์ LTV กระตุ้นให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น

นายเสริมศักดิ์ ขวัญพ่วง ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ยื่นข้อมูลเพื่อเสนอขายหุ้นกู้มูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาทต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) แล้ว เพื่อเสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันในช่วงต้นปี 2565 โดยหุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ที่ระดับ “BBB-”เช่นเดียวกับอันดับเครดิตองค์กร แนวโน้ม “คงที่” (Stable) 

นายเสริมศักดิ์ ขวัญพ่วง ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้แต่งตั้งสถาบันการเงิน 5 แห่งเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด โดยคาดว่าจะเสนอขายในช่วงต้นปี 2565 และจะมีการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับอายุหุ้นกู้และผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนทราบอีกครั้ง

ช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีปัจจัยท้าทายที่ต้องเผชิญ แต่บริษัทฯยังสามารถสร้างการเติบโตทั้งในด้านยอดขายและยอดโอนที่มีสัญญาณดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเห็นจากช่วงเดือนกรกฎาคม –ตุลาคม 2564 บริษัทฯมียอดขายเติบโตขึ้นทุกเดือน โดยเฉพาะเดือนตุลาคมมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 30% จากเดือนกันยายนและไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 คาดว่า จะมียอดขาย 4,104 ล้านบาท และยอดโอนกว่า 2,557 ล้านบาท โดยมาจากโครงการคอนโดมิเนียมและโครงการแนวราบ และมียอดขายรอรับรู้รายได้(Backlog)กว่า 12,821 ล้านบาท เพื่อรองรับการโอนในระยะ 2 ปีข้างหน้า 

 

สำหรับปี 2565 บริษัทฯ มีแผนเปิดโครงการใหม่ 7 โครงการ มูลค่ากว่า 28,000 ล้านบาท เป็นโครงการคอนโดมิเนียม 5 โครงการ และโครงการแนวราบ 2 โครงการ ด้วยกลยุทธ์ ANANDA NEW BLUE มองหาโอกาสใหม่ ๆ แนวคิดที่พัฒนาที่อยู่อาศัยและบริการในรูปแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการชีวิตคนเมืองที่ปรับเปลี่ยนไปหลังโควิด ซึ่งบริษัทฯมีความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน มีศักยภาพในการลงทุนขยายโครงการต่าง ๆ โดยมีเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 3 กว่า 5,900 ล้านบาท และมีเงินสดรับจากการขายและโอนโครงการที่สร้างเสร็จแล้วอย่างต่อเนื่อง 
 

นอกจากนี้ บริษัทฯเพิ่งได้รับเงินเพิ่มทุน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและสภาพคล่องทางการเงิน 1,292 ล้านบาท ตามที่กำหนดไว้ จากจำนวนจองซื้อที่มากถึง 1,716 ล้านบาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเงินเพิ่มทุนดังกล่าว จะนำไปสนับสนุนการดำเนินธุรกิจและลดความจำเป็นในการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน(Perpetual Bond)เพื่อทดแทน Perpetual Bond 2รุ่น ที่จะครบ 5 ปี ในปี 2565 รวม 1,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนจะไถ่ถอน Perpetual Bond ดังกล่าว ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนี้ ยังช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินลงได้อีกด้วย

 

สำหรับการออกหุ้นกู้ฯครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการรองรับจังหวะที่สำคัญในการเติบโตของบริษัทฯ ต่อไป ขณะเดียวกันโครงการของบริษัทฯ ยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากพันธมิตรชั้นนำระดับอินเตอร์เนชั่นแนล เช่น มิตซุย ฟูโดซัง, บีทีเอส กรุ๊ป, เพรซิเดนท์ ดี เวนเจอร์, ดุสิตธานี, สแครทช์ เฟิร์สท์ และดิ แอสคอทท์ เป็นต้น

‘อนันดา’ เตรียมออกหุ้นกู้ไม่เกิน 5,000 ล้าน ขายต้นปี 65

ส่วนประเด็นคดีความเรื่องการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ที่บริษัทฯ ถือหุ้นในโครงการ 51% ในลักษณะบริษัทร่วมค้า ซึ่งโครงการนี้ไม่มีภาระหนี้คงเหลือและบริษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้ถูกฟ้องร้องโดยตรง ส่งผลให้ความเสียหายสูงสุดที่จะกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทฯ จึงถูกจำกัดเพียงมูลค่าของยูนิตที่ยังไม่ได้โอนตามสัดส่วนที่เป็นของบริษัทฯ เท่านั้น ซึ่งตามที่ปรากฎในงบการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มี 117 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 838.2 ล้านบาท 

 

บริษัทฯอาจได้รับผลกระทบต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของลูกค้าต่อบริษัทฯและโครงการในอนาคตได้ จึงได้มีการเตรียมแผนต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและนักลงทุนมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการเพิ่มทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง และการดำเนินการให้บริษัทร่วมค้ายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อศาลปกคลองสูงสุดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564  ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างศาลปกครองสูงสุดแสวงหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้บริษัทฯ และบริษัทร่วมค้าเชื่อมั่นว่า การก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้ปฏิบัติตามกฎหมายในทุกขั้นตอน

 

“เรามั่นใจว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจลงทุนในหุ้นกู้ของเรา ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจลงทุนในช่วงนี้ โดยเฉพาะหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ผ่อนปรนมาตรการการปล่อยสินเชื่อ LTV ทำให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น เพราะความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง และจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเติบโตให้กับบริษัทในอนาคต รวมถึงจะเพิ่มความน่าสนใจให้กับผู้ลงทุนในการเลือกลงทุนหุ้นกู้ของบริษัทอย่างแน่นอน”นายเสริมศักดิ์กล่าว