IMH ประกาศเป็นผู้นำโรงพยาบาลโควิดแบบครบวงจร

27 พ.ย. 2564 | 17:26 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2564 | 00:28 น.

IMH เดินหน้าประกาศตอกย้ำเป็นผู้นำโรงพยาบาลโควิดแบบครบวงจรทุกมิติระดับต้นๆ ของประเทศ ชูศักยภาพความพร้อมการให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฉีดวัคซีน และให้บริการตรวจหาภูมิคุ้มกัน ด้านรพ.ประชาพัฒน์ จ่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิดต่อเนื่อง

นายสิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาล อินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บจำกัด (มหาชน) (IMH) เปิดเผยว่า กรณีล่าสุดที่ต่างประเทศมีการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ในแอฟริกาใต้  B.1.1.529  จนทำให้ทั่วโลกเกิดความวิตกกังวลว่าวัคซีนที่มีอยู่อาจไม่สามารถรับมือได้ จึงส่งผลให้แต่ละประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการคุมเข้ม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งจากประเด็นดังกล่าวเชื่อว่าหลังจากนี้การตรวจเชื้อ เพื่อการควบคุมเชื้อไวรัส จะกลับมาเข้มงวดอย่างแน่นอน เนื่องจากโควิดสายพันธุ์ใหม่ สามารถแพร่เชื้อและกระจายได้อย่างรวดเร็ว  

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของ IMH ซึ่งเป็นโรงพยาบาลให้บริการตรวจเชื้อโควิดครบวงจร มีความพร้อมในการให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้บริการฉีดวัคซีน และให้บริการตรวจหาภูมิคุ้มกัน ควบคู่กับการให้บริการตรวจสุขภาพนอกสถานที่ให้กับกลุ่มลูกค้าประเภทองค์กร และหน่วยงานต่างๆที่ต้องการตรวจสุขภาพและตรวจโควิด-19 ให้กับพนักงาน ทั้งในรูปแบบ ATK และ RT-PCR 

ขณะเดียวกัน IMH ยังมีโรงพยาบาลประชาพัฒน์  ที่มีศักยภาพในการองรับผู้ป่วยที่เข้ามาโควิดได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นเชื่อว่าการที่ IMH สามารถให้บริการได้ครบทุกมิติ เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า IMH เป็นผู้นำในการตรวจโควิด-19 แบบครบวงจรระดับต้นๆของประเทศในขณะนี้

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด ระบุว่า IMH มีจุดเด่นเป็น โรงพยาบาลโควิดแบบครบวงจรพร้อมรับมือเสี่ยงระบาดรอบใหม่ ขณะที่ รพ. ประชาพัฒน์ สามารถรองรับปริมาณเตียงผู้ป่วยโควิด-19 (U-Rate) เต็ม 100% จากเคสผู้ป่วยโควิดสะสมสีเหลือง-แดง นอกจากนี้ IMH ยังโดดเด่นในการให้บริการตรวจสุขภาพนอกสถานที่ โดยเฉพาะหน่วยงานและองค์กร ที่ต้องการตรวจสุขภาพและตรวจโควิด-19 ให้กับพนักงาน ทั้งแบบ ATK และ RT-PCR ส่งผลให้ฝ่ายวิจัย ให้ราคาเป้าหมายที่เหมาะสม โดยแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 24 บาท พร้อมประเมินทิศทางผลการดำเนินงาน โดยประเมินกำไรทั้งปี2564 แตะกว่า 386 ล้านบาท  

 

ขณะที่ ปี 2565 คาดว่าผลการดำเนินงานยังคงดีต่อเนื่อง จากการรักษาผู้ป่วยโควิดสะสมสีเหลือง-แดงและการเปิดศูนย์แพทย์เฉพาะทางรักษาโรคผู้ป่วยหลังโควิด (Post-Covid) เช่น โรคปอดติดเชื้อ และโรคทางเดินหายใจ เป็นต้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด และกลับมารักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาล