คลัง เตรียมรีด “ภาษีความเค็ม” หลังคนไทยเป็นโรคไตกว่า 8 ล้านคน

26 พ.ย. 2564 | 16:01 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2564 | 23:18 น.
4.8 k

คลัง เผย เตรียมเก็บภาษีความเค็ม หลังพบคนไทยติดเค็ม ล่าสุดมีผู้เป็นโรคไตกว่า 8 ล้านคน คาดใช้รูปแบบเดียวกับภาษีความหวาน ชี้ 4 กลุ่มอาหารโซเดียมสูง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง/เย็น ขนมขบเคี้ยว และซอสปรุงรส ไม่รอด!

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิต ไปศึกษาแนวทางการเก็บ "ภาษีความเค็ม" เพื่อควบคุมปริมาณการใช้โซเดียมในส่วนประกอบของอาหาร เนื่องจากส่งผลเสียระยะยาวต่อสุขภาพ ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะใช้รูปแบบเดียวกับการจัดเก็บภาษีความหวาน ที่ใช้ปริมาณเป็นตัวกำหนดอัตราการเสียภาษี ส่วนจะเริ่มใช้เมื่อไหร่นั้น ยังต้องรอดูความเหมาะสมของสถานการณ์รวมทั้งความพร้อมของทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม ร้านอาหาร และผู้บริโภค

 

“หลังจากใช้ภาษีความหวาน ก็พบว่าผู้ประกอบการมีการลดปริมาณการใช้น้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มลง และหันไปใช้สารให้ความหวาน เช่น หญ้าหวานแทน ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น ดังนั้นภาษีจึงมีส่วนสำคัญในผลักดันให้การบริโภคโซเดียมลดลง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักรู้และลดการบริโภคด้วยตัวเองด้วย” นายอาคม กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดปริมาณเหมาะสมในการบริโภคโซเดียม ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่คนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,600 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งการจะลดปริมาณบริโภคโซเดียมของคนไทยลง จะเป็นแบบค่อยไปค่อยไป โดยเป้าหมายแรกตั้งเป้าลดการบริโภคลงให้เหลือ 2,800 มิลลิกรัมต่อวันต่อคน หรือลดลงให้ได้ 20% ภายใน 8 – 10 ปี ดังนั้นการกำหนดอัตราภาษีโซเดียม จะช่วยจูงใจให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมลงลด

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต  กล่าวว่า การพิจารณาภาษีความเค็มจะต้องดูความพร้อมในแง่มาตรการภาษีกับภาคอุตสาหกรรม โดยจะต้องรอให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย คาดว่าจะบังคับใช้ได้เมื่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของเศรษฐกิจขยายตัวอยู่ที่มูลค่า 16 ล้านล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเมื่อพร้อมก็จะมีการประกาศล่วงหน้าเพื่อให้เวลาภาคอุตสาหกรรมปรับตัว 6-12 เดือน เนื่องจากภาษีความเค็มจะกระทบประชาชนในวงกว้าง

 

เราได้เริ่มศึกษาภาษีความเค็มมานานกว่า 3 ปีแล้ว ซึ่งขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากโควิดเข้ามาจึงมีผลต่อเศรษฐกิจ และภาษีความเค็มกระทบอุตสาหกรรมค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น จะต้องรอช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว และการใช้ภาษีความเค็มจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เช่น ใช้ภาษีตามขั้นบันไดเหมือนกับภาษีความหวาน เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการได้มีการปรับตัว และผลิตสินค้าสูตรใหม่ออกมา” นายณัฐกร กล่าว

 

ทั้งนี้ การออกมาตรการภาษีความเค็มจะเก็บตามสัดส่วนความเค็มที่ผสมอยู่ในสินค้า หากเค็มมากก็เสียภาษีมาก เค็มน้อยก็เสียภาษีน้อย หากต่ำกว่าเกณฑ์ก็จะไม่เสียภาษีเลย สินค้าในเป้าหมายมีอยู่ 4 กลุ่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง/เย็น ขนมขบเคี้ยว และซอสปรุงรส

นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายการรักษาสุขภาพของประชาชนราว 100,000 ล้านบาท  ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคเค็ม จาก 5 โรคเรื้อรัง  คือ ความดันโลหิตสูง 13 ล้านคน โรคไตเรื้อรัง 8 ล้านคน มีค่าใช้จ่ายฟอกไตปีละ 20,000 ล้านบาท  หัวใจ 500,000 คน สโตรก 500,000 คน เบาหวาน 4 ล้านคน ถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณที่สูงมาก และเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปีๆละ 10-15%  ดังนั้นเพื่อลดภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดูแลสุขภาพของประชาชน ก็ต้องรณรงค์ให้ความรู้การบริโภค และการจัดเก็บภาษีความเค็ม จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะดำเนินการ ที่ควรกำหนดหลักเกณฑ์ความเค็มในการจัดเก็บ เช่น ความเค็มมาก เก็บมาก เค็มน้อยเสียน้อย  เป็นต้น 

 

“การจัดเก็บภาษีความเค็ม หารือกันมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มานำใช้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูป ถ้าปรับขึ้นภาษีความเค็ม 50 สตางค์ ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 6 บาท เป็น 7 บาท ก็ถือว่าไม่มาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐว่าจะปรับขึ้นเมื่อใด ขณะเดียวกันก็ต้องให้เวลาผู้ผลิตปรับสายการผลิตใหม่ด้วย” นพ.สุรศักดิ์  กล่าว

 

คลัง เตรียมรีด “ภาษีความเค็ม” หลังคนไทยเป็นโรคไตกว่า 8 ล้านคน