อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "ทรงตัว" ที่ระดับ  32.58 บาท/ดอลลาร์ 

19 พ.ย. 2564 | 07:37 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2564 | 18:06 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าเข้าใกล้แนวรับสำคัญในโซน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายของผู้เล่นต่างชาติ   กรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.65 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.58 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ซึ่งต้องระวังโอกาสที่เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าได้ จากแรงกดดันการแข็งค่าของเงินปอนด์ ถ้ายอดค้าปลีกอังกฤษออกมาดีกว่าคาด อนึ่ง เงินบาทก็เริ่มแข็งค่าเข้าใกล้แนวรับสำคัญในโซน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งก็เป็นระดับเป้าหมายของบรรดาผู้เล่นต่างชาติ ที่มองว่า เงินบาทอาจแข็งค่าถึงระดับดังกล่าวเช่นกัน

ดังนั้น เรามองว่า หากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม เงินบาทอาจแข็งค่าได้ไม่มาก นอกจากนี้ การย่อตัวลงของราคาทองคำ อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อ Buy on Dip เพื่อเล่นรอบเก็งกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำได้ ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวจะเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท

ทั้งนี้ ในฝั่งผู้ประกอบการ เราคงเชื่อว่า บรรดาผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้โซน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้งในระยะสั้นนี้ ตลาดอาจยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมมากนัก ทำให้ฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติยังไม่รีบกลับเข้าตลาดหุ้นไทย ส่วนโฟลว์เก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทอาจจะเริ่มชะลอลงในระยะสั้น เพราะผู้เล่นต่างชาติบางส่วนอาจเริ่มอยากขายทำกำไรบ้าง หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นเป้าราคาของบรรดาผู้เล่นต่างชาติ 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.65 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก จากความกังวลปัญหาด้านเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับสามารถปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +0.38% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวก +0.45% สวนทางกับตลาดหุ้นอื่นๆ ได้จากแรงหนุนผลประกอบการ รวมถึงแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในกลุ่ม Tech. และ กลุ่ม Retail ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ราคาหุ้นผู้ผลิตชิพชั้นนำ Nvidia +8.3% จากผลประกอบการที่ออกมาแข็งแกร่งดีกว่าคาด จากอานิสงส์การเติบโตของธุรกิจเกมส์และ Data Center หรือ หุ้น Apple +2.9% จากมุมมองของผู้เล่นที่มองว่า การพัฒนา EV ของ Apple นั้นจะสามารถสร้างการเติบโตที่ดีในระยะยาวให้กับบริษัท

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงต่อเนื่อง -0.39% จากแรงขายทำกำไรตามสภาวะตลาดที่ผู้เล่นทยอยลดความเสี่ยงลง ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็กลับมากังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มธนาคาร Santander -1.9%, BNP Paribas -1.1% เป็นต้น

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แต่ทว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวที่ระดับ 1.59% ซึ่งเราเชื่อว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการเลือก ว่าที่ประธานเฟดคนถัดไป ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองว่า บอนด์ยีลด์ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอีของบรรดาธนาคารกลางหลัก

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการทยอยขายทำกำไรจากการที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาและภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่สวนทางกับตลาดหุ้นอื่นๆ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ 95.54 จุด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่พลิกกลับมาแข็งค่าสู่ระดับ 1.35 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังผู้เล่นตลาดกลับมามองว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วขึ้น ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของอังกฤษในวันนี้ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) โดยหากยอดค้าปลีกออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด ก็อาจยิ่งทำให้ตลาดมีมุมมองที่เชื่อว่า BOE อาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้น และอาจหนุนให้เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นได้ 

ทั้งนี้ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงและบอนด์ยีลด์ก็ทรงตัวในระดับเดิม แต่ราคาทองคำกลับปรับตัวลดลง หลังจากแตะระดับแนวต้านที่ระดับ 1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง โดยล่าสุดราคาทองคำย่อตัวลงมาสู่ระดับ 1,859 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า เป็นการย่อตัวตามแรงขายทำกำไร ซึ่งมีโอกาสที่จะเห็นผู้เล่นบางส่วนกลับเข้ามาทยอยซื้อทองคำในโซนแนวรับใกล้ระดับ 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อเก็งกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำต่อ 

สำหรับวันนี้ ตลาดรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษในเดือนตุลาคม โดยตลาดประเมินว่า ยอดค้าปลีกจะสามารถโตกว่า +0.8% จากเดือนก่อนหน้าได้ ซึ่งหากยอดค้าปลีกออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วของ BOE และอาจหนุนให้เงินปอนด์ (GBP) กลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง พร้อมกับบอนด์ยีลด์ฝั่งอังกฤษที่อาจปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ควรระมัดระวังความผันผวนในตลาดการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้นได้ เนื่องจาก วันศุกร์นี้จะเป็นวันที่ Options ของหุ้นรายตัว, ดัชนี และ ETFs ในฝั่งสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีการครบกำหนด หรือที่เรียกว่า Op-Ex ซึ่งอาจเห็นราคาสินทรัพย์ปรับตัวผันผวนในกรอบที่กว้างมากขึ้นได้ ตามการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาด

และนอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ตลาดจะรอจับตาการประกาศว่าที่ประธานเฟดคนถัดไปอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลให้ ตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้บ้าง หากประธานาธิบดี โจ ไบเดน เลือก Brainard ขึ้นเป็นประธานเฟดคนถัดไป ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่คงมองว่า ประธานเฟด Powell จะได้รับการต่อวาระสมัยที่ 2 เนื่องจาก Powell ได้รับการสนับสนุนจาก รัฐมนตรีคลังและอดีตประธานเฟด Yellen โดยหากประธานเฟด Powell ได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งต่อ เรามองว่า ก็อาจจะไม่ได้ส่งผลอะไรกับตลาดมากนัก เนื่องจากเป็นประเด็นที่ตลาดรับรู้ไปมากแล้ว

 

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 32.58-32.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแม้เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบแข็งค่าตามสัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างวัน แต่กรอบการแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดตามทิศทางภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ น่าจะได้รับแรงประคองจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังมีสัญญาณดี อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และผลสำรวจภาคการผลิตในมิด-แอตแลนติกของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.50-32.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 และกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด