เปิดพอร์ตต่างชาติ ประเทศไหนลงทุนหุ้นไทยมากสุด

01 พ.ย. 2564 | 08:00 น.
2.1 k

ต่างชาติจุพลุกลับเข้าหุ้นไทย เดือนต.ค.ซื้อสุทธิ 5,854.78 ล้านบาท แม้ทั้งปีจะยังขายสุทธิกว่า 60,819.18 ล้านบาท แต่สัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังเห็นสัญญาณกลับเข้าหุ้นขนาดใหญ่และหุ้นใหม่

นักลงทุนต่างชาติถือว่า มีบทบาทสำคัญและกลุ่มที่ผลักดันดัชนีตลาดหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วนการลงทุนที่สูงเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าตามราคาตลาดรวม(มาร์เก็ตแคป)แม้ว่าล่าสุด(1 ม.ค.-29 ต.ค 2564) นักลงทุนต่างชาติยังมีสถานะขายสุทธิ 60,819.18 ล้านบาทในหุ้นไทย แต่สัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

หลังจากที่สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติในหุ้นไทยลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งขณะนั้นมีสัดส่วนการลงทุนที่ 34.53% ของมาร์เก็ตแคป และสัดส่วนเหลือต่ำสุดเพียง 26.91% ในปี 2563 แต่ล่าสุดสัดส่วนที่เพิ่มเป็น 38.67% ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2564

การถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ

ขณะที่การซื้อขายหุ้นในเดือนตุลาคม(1-29 ต.ค.64) พบว่า นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 15,886.15 ล้านบาท โดยเป็นการขายทั้งสิ้น 660,004.32 ล้านบาทสัดส่วน 42.54% และขายทั้งสิ้น 644,118.17 ล้านบาท สัดส่วน 41.52% และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 5,854.78 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 18,063.29 ล้านบาทและนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 3,677.64 ล้านบาท    

อย่างไรก็ตาม ในรายงานล่าสุดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)พบว่า จากการศึกษาข้อมูลการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยทั้งจาก ข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้น ข้อมูล Corporate Actions และ ข้อมูลการระดมทุนผ่านตลาดรองของบริษัทจดทะเบียน 756 บริษัท จากทั้งหมด 758 บริษัท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปกว่า 18.7 ล้านล้านบาทหรือ 97.64% ของมูลค่ามาร์เก็ตแคปรวมทั้งตลาด พบว่า

 

นักลงทุนต่างประเทศ มีมูลค่าการถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทยรวมกว่า 5.09 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 3 ปี หรือสูงเป็นอันดับ 2 ในรอบ 10 ปี โดยมูลค่าถือครองหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 35.5% จากปีก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์(SET Index) ที่เพิ่มขึ้น 25.03%และการถือครองหุ้นของบริษัทที่เข้าจดทะเบียนเข้าซื้อขายใหม่

“เป็นที่น่าสังเกตว่า นักลงทุนต่างชาติ 124 สัญชาติถือครองหุ้นไทย เพิ่มขึ้นสุทธิ 8 สัญชาติจากปีก่อน ต่างชาติที่เคยถือหุ้นและหายไปในปีก่อน ได้กลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอีกครั้งในปีนี้ โดยเข้ามาถือครองหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่งเข้ามาในตลาดหุ้นไทยครั้งแรกในปีนี้ เข้ามาใน 2 ลักษณะคือ ถือครองหุ้นขนาดใหญ่และเข้ามาถือครองหุ้นที่เข้าจดทะเบียน(บจ.)ใหม่”รายงานข่าวระบุ

 

ทั้งนี้ช่วงเดือนกันยายน 2563 - สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 มีบจ.ใหม่(new listing companies) รวม 41 บริษัท โดยจดทะเบียนในตลท. 23 บริษัท และในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) 18 บริษัท (ไม่รวมหมวดกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 2 กองทุน)ซึ่งพบว่า นักลงทุนต่างชาติลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทจดทะเบียนที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ 39 บริษัท (ใน SET 23 บริษัท และใน mai 16 บริษัท) รวมมูลค่ากว่า 91,835 ล้านบาท

 

ขณะที่อุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติถือครองมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มทรัพยากร มูลค่ารวม 3.07 ล้านล้านบาท คิดเป็น 60.5% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของต่างชาติทั้งหมด ขณะที่กลุ่มบริการ ที่เคยมีมูลค่าการถือครองหุ้นสูงสุดในปีก่อน กลับลดลงมาอยู่อันดับ 4 ในปีนี้

 

กลุ่มเทคโนโลยี เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติลงทุนมากที่สุดที่ 1,310,104 ล้านล้านบาท ขยับขึ้นมาจากอันดับ 4 จากปีก่อน ที่มีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 668,353 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 96.0% จากปีก่อน สาเหตุสำคัญจากราคาหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มเทคโนโลยีปรับเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 58.9%

 

ส่วนกลุ่มธุรกิจการเงิน ซึ่งอยู่ในอันดับ 2 ขยับขึ้นมาจากอันดับ 3 ในปีก่อน โดยมีมูลค่าการถือหุ้นรวม 947,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.5% จากปีก่อน ขณะที่ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมปรับเพิ่ม 36.8% และมีการถือหุ้นเพิ่มเติมในส่วนของบจ.ใหม่ที่เข้าซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ และอันดับ 3 คือ กลุ่มทรัพยากร ลดลงจากอันดับ 2 จากปีก่อน โดยมีมูลค่าการถือหุ้นรวม 810,673 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.3% จากปีก่อน ทิศทางเดียวกันกับดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่ม 18.7%

 

ขณะที่กลุ่มบริการ ที่อันดับการถือครองหุ้นหล่นลงมาอยู่ในอันดับ 4 ปีนี้ จากที่เคยอยู่ในดับดับ 1 เมื่อปีก่อน  มีมูลค่าการถือหุ้นรวม 781,938 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% จากปีก่อน ขณะที่ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ปรับเพิ่ม 13.7% จะเห็นได้ว่า มูลค่าการถือครองหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงของดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก

 

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทในกลุ่มบริการมีสถานะเป็น “บริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน” จึงไม่ได้นำคำนวณตามเงื่อนไขของการศึกษานี้

 

เมื่อพิจารณาในหมวดธุรกิจของตลาดหุ้นไทยพบว่า นักลงทุนต่างชาติลงทุนเพิ่มขึ้นในทุกหมวดธุรกิจ โดยมีมูลค่าการลงทุนในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค(ENERG) มากที่สุดที่  810,673 ล้านบาท คิดเป็น 15.9% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของต่างชาติ รองลงมาคือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) 794,750 ล้านบาท คิดเป็น 15.6% และธนาคาร (BANK) 706,615 ล้านบาท คิดเป็น 13.9% โดยทั้ง  3 หมวดนี้ มีมูลค่าการถือครองหุ้นรวม 2,312,038 ล้านบาท หรือ 45.4% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวม

ประเทศที่ลงทุนในหุ้นไทยสูงสุด 10 อันดับ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจาก 10 อันดับแรกที่ต่างชาติลงทุนในหุ้นไทย มีมูลค่ารวม 4.77 ล้านล้านบาท คิดเป็น 93.7% ของการลงทุนทั้งหมดของต่างชาติพบว่า 7 ชาติ ยังคงเป็นนักลงทุนสัญชาติและอันดับเดียวกันกับปีก่อน ขณะที่อันดับ 8 - 10 มีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน

 

อันดับแรก นักลงทุนจากสหราชอาณาจักร ยังคงมีมูลค่าการถือครองหุ้นสูงสุดในตลาดหุ้นไทย มูลค่าการถือครองหุ้นส่วนใหญ่เป็นการถือครองหุ้นของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่เป็นองค์ประกอบดัชนีตลาดหลักทรัพย์และดัชนีอ้างอิงต่างประเทศ(เช่น MSCI Thailand Index )

 

 อันดับที่ 2  คือ นักลงทุนจากสิงคโปร์ และอันดับ 3 คือ นักลงทุนจากฮ่องกง โดยมูลค่าการถือครองหุ้นส่วนใหญ่ทั้งของนักลงทุนสิงคโปร์และนักลงทุนฮ่องกง เป็นการถือครองหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มเทคโนโลยี ทั้งในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดเทคโนโลยีและการสื่อสาร

 

ขณะที่อันดับที่ 4 - 7 ยังคงเป็นสัญชาติและอันดับเดิมคือ นักลงทุนจากสวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และมอริเชียส ขณะที่อันดับที่ 8 นักลงทุนจากเคย์แมน ไอส์แลนด์ ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 13 จากปีก่อน และอันดับที่ 9 นักลงทุนจากไต้หวันที่ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 11 จากปีก่อน จากมูลค่าการถือครองหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ราคาปรับสูงขึ้น

 

ส่วนอันดับที่ 10 นักลงทุนจากบริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ ที่อันดับลดลงมาจากอันดับ 8 ในปีก่อน ขณะที่นักลงทุนจากเนเธอร์แลนด์ และนักลงทุนจากฝรั่งเศสที่เคยอยู่อันดับที่ 9 และอันดับ 10 ในปีก่อน ลดลงไปอยู่ที่อันดับที่ 12 และอันดับที่ 11 ตามลำดับ