กูรูฟันธง หุ้นไทย โค้งท้ายปี ยังเสี่ยง

29 ต.ค. 2564 | 11:39 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2564 | 18:39 น.

“บล.ไทยพาณิชย์-KTBST” ประสานเสียง หุ้นไทยช่วงโค้งท้ายปียังเสี่ยง ปัจจัยลบรุมเร้า คาดดัชนีไม่เกิน 1,700 จุด แนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้นเชิงรับในกลุ่มปลอดภัย มีกำไรโตแข็งแกร่ง งบแข็งแรง จับตาปัจจัยการเมืองในประเทศ ที่จะมีการเลือกตั้งในไตรมาส 3 ปี 2565

งานสัมนา“หุ้นปลอดภัย ฝ่าภัยโควิด เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ  ได้รับเกียรติจากโบรกเกอร์ 2 แห่งเข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “หุ้นเด็ด พิชิตตลาด” คือ นายสุทธิชัย คุ้มวรชัย ผู้อำนวยการอาวุโส นักวิเคราะห์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด  หรือ SCBS และนายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล. เคทีบีเอสที (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST

 

นายสุทธิชัยมองว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ ยังอยู่ในจุดที่ค่อนข้างเปราะบาง ไม่มีอัพไซด์มากจากระดับปัจจุบันที่ระดับ 1,600 จุด อีกทั้งราคาหุ้นก็ไม่ถูก ทำให้การลงทุนหุ้นไทยยังเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างผลตอบแทนกับความเสี่ยงให้สมดุล ขณะที่ผลตอบแทนยังมีโอกาสปรับขึ้นจากการทยอยเปิดเศรษฐกิจ

 

นายสุทธิชัย คุ้มวรชัย ผู้อำนวยการอาวุโส นักวิเคราะห์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจอีไอซี ธนาคาร ไทยพาณิชย์ คาดการณ์เศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปีนี้ จะขยายตัวที่ 1% และ 3.6% ในปีหน้า แต่ยังต้องติดตามหลังเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ว่า จะมียอดผู้ติดเชื้อกลับมามากน้อยแค่ไหน ซึ่งคาดว่า จะไม่มีการกลับมาปิดเมืองอีก

 

“หากการเปิดประเทศเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เชื่อว่า จะเห็นกระแสเงินทุนต่างชาติเข้ามารับการเปิดเศรษฐกิจ โดยกลยุทธ์การลงทุนเน้นการเลือกหุ้นเชิงรับในหุ้นกลุ่มปลอดภัย ที่มีกำไรโตแข็งแกร่งและงบการเงินแข็งแรง ทั้งนี้ แนะนำ 5 หุ้นเด่น ได้แก่ BEM, KCE, OSP, SECURE และ ZEN” นายสุทธิชัยกล่าว

 

สำหรับทิศทางดัชนีหุ้นไทยปี 2565 คาดว่า จะอยู่ที่ 1,600 จุด หรือหุ้นไม่ขึ้น เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าที่ไม่หนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเท่าที่ผ่านมา ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ผ่านจุดสูงสุดและกำลังชะลอตัวลง, ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะทยอยลดมาตรการคิวอีในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

5 หุ้นเด็ด พิชิตตลาด

 

สอดคล้องกับนายมงคลที่มองว่า  ลาดหุ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะแกว่งตัวที่ระดับ 1,650-1,700 จุด หรือไม่เกิน 1,700 จุดในสิ้นปีนี้ เนื่องจากปัจจัยลบที่กดดันตลาดไม่ได้ชัดเจนมาก แต่ในแง่ของความไม่แน่ใจมีมากกว่า ทั้งจากความกังวลว่า หลังเปิดประเทศแล้วการระบาดจะกลับมารอบใหม่หรือไม่ ส่งผลให้นักลงทุนยังไม่กล้าลงทุน

  นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล. เคทีบีเอสที (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

อีกทั้งเฟด เริ่มลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ซึ่งส่วนใหญ่หุ้นจะปรับตัวลงก่อนเริ่ม ทำให้ภาพนักลงทุนต่างชาติยังเป็นการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นภูมิภาคเอชียแบบทั้งซื้อและขาย ไม่มีเม็ดเงินที่หนุนตตลาดให้เติบโตอย่างจริงจัง

 

ส่วนดัชนีหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นได้ในช่วงที่ผ่านมา มองว่า เป็นปัจจัยเฉพาะตัว จากกลุ่มนักลงทุนรายย่อยในประเทศที่เข้ามาลงทุนในหุ้นธีมเปิดเมืองและหุ้นมหาชน ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวขึ้น หนุนดัชนีกลับมายืนที่ระดับ 1,650 จุด แทนที่จะอยู่ที่ระดับ 1,600 จุดหลังจากผ่านการแพร่ระบาดโควิดรอบนี้

 

สำหรับแนวโน้มดัชนีหุ้นไทยปี 2565 มีโอกาสจะปรับตัวสูงกว่าปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 1,740 จุด และ 1,780 จุดในปี 2566 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีกว่าปีนี้ หลังมีการเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยยังมีโอกาสเติบโตในเชิงกำไรที่สูงขึ้น แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงปัจจัยการเมืองในประเทศที่จะมีการเลือกตั้งในไตรมาส 3 ปี 2565

 

“ปีหน้า ไม่ว่าดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ระดับ 1,600 จุด หรือทะลุ 1,700 จุด กลยุทธ์การเลือกกลุ่มหุ้นและเลือกหุ้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะเอาตัวรอดไปได้และมีผลตอบแทนชนะตลาด ขณะเดียวกัน ต้องมีการผสมผสานการลงทุน”

 

ทั้งนี้ให้ลงทุนในหุ้นสัดส่วน 50% เลือกลงทุนหุ้นกลุ่มที่ฟื้นตัวจากโควิด เช่น BBL และ TKN ที่ราคาหุ้นยังไม่ปรับขึ้นมาก และมีการฟื้นตัวในเชิงกำไร ขณะที่สัดส่วนอีก 50% เน้นลงทุนหุ้นรับกระแสการเติบโตในปีหน้า โดยกลุ่มหุ้นเติบโตที่น่าสนใจมี 3 กลุ่ม ได้แก่ เทคโนโลยี อีวี และกัญชง ซึ่งในกลุ่มเทคโนโลยีและอีวีลงทุนได้เลย แนะหุ้นเด่น คือ EA และ SCGP ส่วนหุ้นกลุ่มกัญชงให้รอเข้าลงทุนในปีหน้า

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,726 วันที่ 28 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564