อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.19 บาท/ดอลลาร์

29 ต.ค. 2564 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2564 | 17:44 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.30 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.19 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.30 บาทต่อดอลลาร์

 

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ซึ่งเราคาดว่าผู้เล่นต่างรอคอยที่จะขายทำกำไร หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจเผชิญความผันผวนได้จากแรงขายทำกำไรหุ้นไทยออกมาบ้าง เนื่องจากเราเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติอาจชะลอการลงทุนในไทยไปก่อน จนกว่าจะมองภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังการทยอยเปิดประเทศในเดือนหน้า ได้อย่างชัดเจนก่อน ทำให้โดยรวมฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติยังมีความผันผวน

 

ทั้งนี้ แนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่ ส่วนผู้นำเข้าบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่โซน 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.30 บาท/ดอลลาร์

 

 

ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อ จากแรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะในฝั่ง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่รายงานผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดนั้น ได้ช่วยหนุนให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +1.0%

 

ส่วนหุ้นเทคฯ ก็ปรับตัวขึ้นกันถ้วนหน้า ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า +1.4% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้น ได้สะท้อนว่าผู้เล่นในตลาดต่างให้น้ำหนักปัจจัยผลประกอบการมากกว่าข้อมูลเศรษฐกิจ หลังจากที่ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเศรษฐกิจโตเพียง +2.0% จากไตรมาสก่อนหน้า น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ที่ +2.7% และเป็นการชะลอตัวหนักจากที่โตกว่า +6.7% ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นผลมาจากการปัญหาการระบาดของเดลต้า รวมถึงปัญหาด้าน Supply Chain

 

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 รีบาวด์ขึ้น +0.3% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทโดยรวมที่ยังออกมาดี แม้ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเน้นย้ำจุดยืนที่จะปรับลดการทำคิวอี ผ่านโครงการ PEPP นอกจากนี้ ประธาน ECB ยังได้ระบุว่า ปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาด้าน Supply Chain ที่หนุนให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นนั้นอาจอยู่กับตลาดการเงินได้ยาวนานกว่าที่เคยประเมินไว้ ทำให้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงมองว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด อาจทำให้ ECB ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีหน้า ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ แตะระดับ 1.168 ดอลลาร์ต่อยูโร

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ยังช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ทั่วโลกต่างปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยในฝั่งสหรัฐฯ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 3bps สู่ระดับ 1.57% ท่ามกลางสภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดจากผลกำไรที่ออกมาดีกว่าคาด

 

ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า ปัญหาเงินเฟ้อจะส่งผลให้บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกต่างทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อได้

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามสภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด และการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร ตามมุมมองของตลาดที่เชื่อว่า ECB อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีหน้า ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 93.35 จุด

 

ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง หากราคาทองคำปรับตัวใกล้ระดับดังกล่าว

 

สำหรับวันนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอจับตา ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ โดยตลาดจะรอจับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ (PCE) ในเดือนกันยายน ว่าจะมีการเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามากน้อยเพียงใด ซึ่งหากเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและสินค้าพลังงาน (Core PCE) พุ่งขึ้นมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ที่ระดับ +0.2% จากเดือนก่อนหน้า ก็อาจทำให้ตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและคาดหวังว่า เฟดอาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดได้เร็วกว่าคาด

 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ตลาดจะยังคงจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเราคงมองว่า งบการเงินโดยรวมที่มีแนวโน้มออกมาแข็งแกร่งจะยังสามารถช่วยหนุนให้ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงได้

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแข็งค่าทดสอบแนว 33.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงสั้นๆ ก่อนจะกลับมาปรับตัวที่ระดับประมาณ 33.20-33.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ โดยยังคงแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขาย หลังตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 3/64 ของสหรัฐฯ เติบโตเพียง 2% ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 2.7-3.0% ต่อปี

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่  33.10-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในประเทศ รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค.