อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.70 บาท/ดอลลาร์

12 ต.ค. 2564 | 07:42 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ต.ค. 2564 | 21:29 น.
555

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ผู้เล่นบางส่วนที่อาจเข้ามาเก็งกำไรการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพฤศจิกายน เห็นได้ที่พลิกกลับมาแข็งค่าหนัก หลังนายกฯ ประกาศเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.70 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.88 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิบอนด์ไทย ซึ่งต้องจับตาผลประมูลบอนด์ในวันนี้ ว่าจะยังคงมีดีมานด์จากนักลงทุนขนาดไหน นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ผู้เล่นบางส่วนที่อาจเข้ามาเก็งกำไรการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพฤศจิกายน ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่พลิกกลับมาแข็งค่าหนัก หลังจากที่ นายกฯ ได้ประกาศเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว

 

อย่างไรก็ดี โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังมีอยู่ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและผู้เล่นโดยรวมยังมองว่า เฟดจะเดินหน้าลดคิวอีในเดือนพฤศจิกายน ทำให้เงินดอลลาร์จะยังไม่รีบอ่อนค่าลงในเร็วนี้ เว้นแต่ว่า ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดอาจเริ่มลังเลต่อการลดคิวอีในเดือนพฤศจิกายน และตลาดคลายกังวลปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จนกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้อาจต้องรอในช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ที่อาจจะพอเห็นภาพตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้บ้าง

 

แม้ว่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้บ้าง แต่ เรายังไม่ได้มองว่า เงินบาทจะกลับไปแข็งค่าหนักในระยะสั้น เพราะปัจจัยพื้นฐานยังไม่ได้ฟื้นตัวดีมากนักและโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังคงมีอยู่ ซึ่งเรามองว่าแนวรับของเงินบาทหากมีการแข็งค่าจะอยู่ในช่วง 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่อาจเห็นผู้นำเข้าบางส่วน เข้ามาทยอยซื้อเงินดอลลาร์มากขึ้น (Buy on Dip)

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.70 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินโดยรวมพลิกกลับมาอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวอีกครั้ง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่จุดสูงสุดในรอบ 7ปี สร้างความกังวลปัญหาเงินเฟ้อและโอกาสเกิดภาวะ Stagflation หากเศรษฐกิจชะลอตัวลง ขณะเดียวกัน ตลาดก็เริ่มกลับมากังวลปัญหาการคุมเข้มภาคธุรกิจของจีน หลังทางการเดินหน้าตรวจสอบพฤติกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารของบริษัทเอกชนกับบรรดาเจ้าหน้าที่ทางการ อาทิ เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลาง รวมถึงผู้บริหารสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ประเด็นปัญหาหนี้ของ Evergrande ยังเป็นที่จับตาของตลาด หลัง Evergrande ยังไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนในตราสารหนี้ที่มีกำหนดจ่ายในวันก่อน ซึ่ง Evergrande จะมีเวลา 30 วัน ในการหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยดังกล่าว

 

ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ ยังไม่สามารถรีบาวด์กลับขึ้นได้ จากปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าว โดย ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.69% ส่วน ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq -0.64% ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องได้หนุนให้หุ้นในกลุ่มพลังงานโดยรวมปรับตัวสูงขึ้น อาทิ Halliburton +3.1%, Schlumberger +2.4%

 

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.02% โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มยานยนต์ Daimler +2.8%, BMW +2.6%, กลุ่มพลังงาน TotalEnergies +2.0%, Eni +1.3% รวมถึง กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Kering +1.2%, Louis Vuitton +0.6% 

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับ 1.61% เนื่องจากเป็นวันหยุดของตลาดบอนด์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ รวมถึง บอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วโลก ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ตามแนวโน้มเฟดเดินหน้าทยอยลดคิวอีในการประชุมเดือนพฤศจิการยน ซึ่งต้องจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้ให้ดี ว่าจะมีมุมมองต่อประเด็นการลดคิวอีอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ เรามองว่า ปัจจัยที่จะช่วยให้บอนด์ยีลด์ขยับขึ้นต่อเนื่อง อาจเป็นมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) รวมถึง บรรยากาศของตลาดการเงินโดยรวม ว่าจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องหรือไม่

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลความผันผวนในตลาดการเงินและต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อหลบความผันผวนในระยะสั้น โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 94.37 จุด

 

ทั้งนี้ แนวโน้มเงินดอลลาร์จะแข็งค่าไปอีกเท่าไหร่ หรือ อ่อนค่าลง อาจต้องจับตาภาพรวมตลาดการเงินว่าจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้หรือไม่ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดว่าจะยังยืนกรานหรือเริ่มลังเล ในการลดคิวอีเดือนหน้า อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ค่าเงินยูโร (EUR) ยังทรงตัวใกล้ระดับ 1.155 ดอลลาร์ต่อยูโร ซึ่งเราเชื่อว่า ระดับเงินยูโรที่ต่ำกว่า 1.16 ดอลลาร์ต่อยูโร ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำและน่าสนใจ โดยเราประเมินว่า เงินยูโรมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึง ความชัดเจนของการเมืองเยอรมนี หากพรรค SPD สามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค Green และ พรรค FDP ได้

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Charles Evans, Richard Clarida และ Raphael Bostic เพื่อติดตามมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการลดคิวอี หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมออกมาแย่กว่าคาด ในขณะที่เงินเฟ้ออาจยังอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่เฟดเคยประเมินไว้

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดจะติดตามการประชุมของธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK)  โดยตลาดมองว่า BOK จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.75% เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมก่อนหน้า ซึ่งเราคาดว่า BOK อาจขึ้นดอกเบี้ยได้อีกครั้งในเดือนธันวาคม หลังเศรษฐกิจก็ทยอยฟื้นตัวได้ดี

 

และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประมูลบอนด์ LB249A วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท โดยหากผลการประมูลออกมาดีหรือผู้เล่นในตลาดยังมีความต้องการบอนด์อยู่มาก อาจช่วยทำให้บอนด์ยีลด์ในช่วง front-end อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากจากระดับปัจจุบัน หลังจากที่ยีลด์ front-end ได้ปรับตัวขึ้นกว่า 0.17% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเรามองว่าน่าจะ priced-in แนวโน้มการคงดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยจนถึงปี 2023 ไปพอสมควรแล้ว นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติอาจเข้ามาประมูลบอนด์ดังกล่าวพอสมควร ซึ่งฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดบอนด์ก็อาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

 

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแข็งค่าทดสอบแนว 33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ณ 9.30 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.89 บาทต่อดอลลาร์ฯ  
โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นสวนทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค รับข่าวการเดินหน้าเปิดประเทศของไทย โดยวานนี้นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายเปิดรับการเดินทางเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว เริ่ม 1 พ.ย. สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส และมีหลักฐานการตรวจการติดเชื้อตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยต้องเป็นผู้ที่มาจากประเทศที่ไทยกำหนดว่ามีความเสี่ยงต่ำ  

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.30-33.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (หลังสัญญาณเดินหน้าเปิดประเทศของไทย) สถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน สถานการณ์โควิด และผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลีใต้ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนส.ค.