อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ทรงตัว” ที่ระดับ 33.79 บาทดอลลาร์

05 ต.ค. 2564 | 07:32 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2564 | 17:14 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแรงกดดันด้าน “อ่อนค่า” ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น จากการปรับตัวสูงขึ้นของสินค้าพลังงาน

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.79 บาทต่อดอลลาร์ทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า -มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.70-33.90 บาท/ดอลลาร์  

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น จากการปรับตัวสูงขึ้นของสินค้าพลังงานไม่ว่าจะเป็น น้ำมันดิบ หรือ แก๊สธรรมชาติ ล้วนสร้างแรงกดดันด้านอ่อนค่าต่อเงินบาท เนื่องจากโดยพื้นฐานนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าพลังงานเป็นหลัก (Net Energy Importer) ทำให้ หากราคาสินค้าพลังงานยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ร่วมกับปัญหาด้าน Supply Chain ที่ส่งผลให้ราคาสินค้าต้นทุนและค่าขนส่งยังแพงอยู่นั้น ก็อาจทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลต่อและทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดก็มีแนวโน้มขาดดุล เพราะไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว

 

อย่างไรก็ดี เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ที่ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทองคำ ทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่โดยรวม เราคงมุมมองว่า  ในระยะสั้น เงินบาทยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน และมีโอกาสที่สามารถกลับไปทดสอบแนวต้านที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ตามข้อมูลการจ้างงานที่ออกมาแข็งแกร่ง ซึ่งต้องรอลุ้น NFP ในวันศุกร์นี้

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.70-33.90 บาท/ดอลลาร์

ความกังวลภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด ยังคงกดดันให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก นอกจากนี้ ความกังวลดังกล่าวยังกดดันให้ตลาดเทขายหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่จะได้รับผลกระทบเชิง Valuation หากเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงและส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นตาม (บอนด์ยีลด์เพิ่มขึ้น ทำให้หุ้นเทคฯ มี Valuation ที่แพง) ดังจะเห็นได้จากการเทขายหุ้นเทคฯ ยักษ์ใหญ่ในตลาดสหรัฐฯ หรือ หุ้นกลุ่ม FAANGS อาทิ Facebook, Apple, Amazon เป็นต้น ซึ่งกดดันให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับฐานต่อ โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.30% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -2.14%

 

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงราว -0.96% ตามแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ เช่นกัน นำโดยหุ้นเทคฯ ยอดฮิตของฝั่งยุโรป อาทิ ASML -3.3%, Adyen -2.8%, Infineon Tech. -2.2% ขณะที่หุ้นในกลุ่มพลังงาน ยังพอช่วยพยุงดัชนีไว้ได้ หลังราคาสินค้าพลังงาน ทั้งน้ำมันดิบหรือแก๊สธรรมชาติต่างปรับตัวขึ้นมาก หนุนให้ TotalEnergies +2.0%, Eni +1.4%

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ระยะยาวจะเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ทว่า ผู้เล่นในตลาดก็ยังคงต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือความผันผวนในตลาด ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังทรงตัวที่ระดับ 1.48% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะกลับมาทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มทยอยออกมาดีขึ้น โดยเฉพาะรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls: NFP) ในวันศุกร์นี้ ซึ่งจะช่วยหนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดต่อไป

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังมีโมเมนตัมหนุนอยู่จากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 93.83 จุด ทั้งนี้ การอ่อนค่าเล็กน้อยของเงินดอลลาร์ รวมถึงความกังวลด้านเงินเฟ้อของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาแตะระดับ 1,767 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งต้องจับตามองว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงอยู่ในตลาดจะช่วยหนุนโมเมนตัมของราคาทองคำได้หรือไม่

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวขอเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะผลกระทบของการระบาด Delta ในช่วงที่ผ่านมา ต่อทิศทางของกิจกรรมภาคการบริการ โดยตลาดมองว่า ภาคการบริการอาจขยายตัวในอัตราชะลอลง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนกันยายน ที่จะลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 59.9 (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินอาจผันผวนมากขึ้นและเดินหน้าปิดรับความเสี่ยงต่อได้ หากดัชนี PMI ภาคการบริการ ชะลอลงมากกว่าคาด ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มการเกิดภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง)

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะจับตาผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางว่าจะมีแนวโน้มการส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ โดยตลาดมองว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% และคุมบอนด์ยีลด์ 3 ปี ไว้ที่ 0.10% หลังเศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนชะลอตัวหนัก (Sharp Slowdown) หากปัญหาหนี้ Evergrande ทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

 

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนกันยายน จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ +0.60%y/y เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -0.02% ตามแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown รวมถึงผลกระทบจากปัญหา Supply Chain ที่จะหนุนให้ราคาสินค้า โดยเฉพาะวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนอัตราเงินเฟ้ออยู่

 

และนอกเหนือจากประเด็นด้านเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตาการเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งควรจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันให้ได้ภายในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่รัฐบาลสหรัฐฯจะผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ 10.00 น. (กรอบการเคลื่อนไหวหลังเปิดตลาดในช่วงเช้าวันนี้ อยู่ในช่วง 33.76-33.86 บาทต่อดอลลาร์ฯ) ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอาจโน้มในทิศทางที่อ่อนค่าในระหว่างวันสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินและแรงกดดันตลาดสินทรัพย์เสี่ยงในฝั่งเอเชีย ขณะที่การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกหนุนแนวโน้มเงินเฟ้อ ซึ่งอาจมีผลทำให้เฟดต้องเดินหน้าสัญญาณทยอยคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ต่อไปในระยะข้างหน้า

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.70-33.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ สถานการณ์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีน ทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ดัชนี PMI และ ISM ภาคบริการเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ