อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ทรงตัว” ที่ระดับ 33.64 บาท/ดอลลาร์

04 ต.ค. 2564 | 07:16 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2564 | 17:12 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทระยะสั้น มีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากเงินดอลลาร์เป็นหลัก ขณะที่แรงขายสินทรัพย์ไทยเริ่มลดลง หลังนักลงทุนต่างชาติต่างรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.64 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า-ยังมีแนวต้านสำคัญอยู่ในโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกต่างรอเข้ามาทยอยขายดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า  สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอลง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น (Stagflation) ขณะเดียวกันความไม่แน่นอนของการเจรจาขยายเพดาหนี้สหรัฐฯ (Debt Ceiling) ยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาด

 

สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดจะรอลุ้น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls: NFP) ที่อาจส่งผลต่อทิศทางการลดคิวอีของเฟดได้ นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดาหนี้สหรัฐฯ ต่อ ว่าสภาคองเกรสจะสามารถขยายเพดานหนี้ได้ก่อนวันที่ 18 ตุลาคม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ได้หรือไม่

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 

ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญที่ตลาดจะให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน เพราะหากตลาดแรงงานฟื้นตัวกลับสู่ช่วงก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 เฟดก็จะมีความมั่นใจในการทยอยลดคิวอีมากขึ้น ซึ่ง ตลาดประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls: NFP) เดือนกันยายน อาจเพิ่มขึ้นกว่า 4.7 แสนราย แต่ถ้าหาก NFP ออกมาต่ำกว่า 2.4 แสนราย อาจส่งผลให้ เฟดยังไม่มั่นใจแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและอาจทำให้ การทยอยลดคิวอีจะเลื่อนไปจากเดือนพฤศจิกายน ที่ผู้เล่นในตลาดได้ priced-in การลดคิวอีในเดือนดังกล่าว

นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาผลกระทบของการระบาด Delta ในช่วงที่ผ่านมา ต่อทิศทางของกิจกรรมภาคการบริการ โดยตลาดมองว่า ภาคการบริการอาจขยายตัวในอัตราชะลอลง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนกันยายน ที่จะลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 59.9 (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินอาจผันผวนมากขึ้นได้ หากดัชนี PMI ภาคการบริการ ชะลอลงมากกว่าคาด ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มการเกิดภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง)

 

ฝั่งยุโรป – ผลการเลือกตั้งเยอรมนีสะท้อนว่า รัฐบาลผสม (Coalition Government) ในครั้งนี้ อาจจะต้องใช้เสียงจากถึง 3 พรรค ซึ่งล่าสุด พรรค Green และ FDP มีแนวโน้มที่จะจับมือเป็นพันธมิตรกัน ทำให้ ตลาดจะรอจับตาว่า พรรค SPD ที่ได้เสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ หรือ พรรค CDU/CSU จะสามารถร่วมมือกับ พรรค Green และ FDP ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งหากพรรค SPD สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ เรามองว่า อาจส่งผลดีต่อตลาด

 

ดยเฉพาะตลาดหุ้นเยอรมนีและค่าเงินยูโร เนื่องจากรัฐบาลใหม่มีแนวโน้มสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลัง รวมถึงมีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และอาจมีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจมากขึ้น อย่างไรก็ดี การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลอาจใช้เวลานานและยืดเยื้อ ซึ่งความไม่แน่นอนของการเมืองเยอรมนี รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอย่าง ปัญหาขาดแคลนพลังงานที่อาจกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น จะทำให้นักลงทุนสถาบันลดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปลง สะท้อนผ่านดัชนี Sentix Investor Confidence ที่จะลดลงสู่ระดับ 18.6 จุด ในเดือนตุลาคม

ฝั่งเอเชีย – สัปดาห์นี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางว่าจะมีแนวโน้มการส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งตลาดคาดว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) อาจเป็นหนึ่งในธนาคารกลางที่จะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.50% ตามธนาคารกลางเกาหลีใต้ หลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในนิวซีแลนด์ดีขึ้นและเศรษฐกิจก็ทยอยฟื้นตัวได้ดี

 

ทั้งนี้ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% และคุมบอนด์ยีลด์ 3 ปี ไว้ที่ 0.10% หลังเศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนชะลอตัวหนัก (Sharp Slowdown) หากปัญหาหนี้ Evergrande ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่วน ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ก็จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4.00% เช่นกัน เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อก็เริ่มลดลง หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มกลับสู่กรอบ 2-6% ของ RBI

 

ฝั่งไทย – ตลาดมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนกันยายน จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ +0.60%y/y เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -0.02% ตามแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown รวมถึงผลกระทบจากปัญหา Supply Chain ที่จะหนุนให้ราคาสินค้า โดยเฉพาะวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนอัตราเงินเฟ้ออยู่

 

นอกจากนี้ การทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และสถานการณ์การระบาดโดยรวมที่ดีขึ้น จากการเร่งแจกจ่ายวัคซีน จะช่วยหนุนให้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนกันยายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 40 จุด ย้ำภาพการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคาดว่าในระยะสั้น เงินบาทจะมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากเงินดอลลาร์เป็นหลัก ขณะที่แรงขายสินทรัพย์ไทยเริ่มลดลง หลังนักลงทุนต่างชาติต่างรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่งเราเชื่อว่า หากข้อมูลเศรษฐกิจไทยดีขึ้นต่อเนื่อง จากช่วยหนุนการกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติได้ ทั้งนี้ เงินบาทยังคงมีปัจจัยเสี่ยงภายใน อาทิ ปัญหาน้ำท่วม รวมถึง สถานการณ์ COVID-19

 

ส่วนในมุมแนวโน้มเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ในสัปดาห์นี้ เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอรายงาน NFP ซึ่งหาก NFP ออกมาดีกว่าคาด จะหนุนโอกาสการลดคิวอีในเดือนหน้าและช่วยพยุงให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะ ปัญหาการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ จะยังหนุนโมเมนตัมเงินดอลลาร์ในระยะสั้นอยู่ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์สามารถจะกลับมาอ่อนค่าลงได้ หากตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอให้ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เริ่มคลี่คลายลงก่อน

 

ทั้งนี้ หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่าน ทำให้กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะขยับอ่อนค่าลงจากช่วงก่อนหน้า โดย เงินบาทยังมีแนวต้านสำคัญอยู่ในโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้ส่งออกต่างรอเข้ามาทยอยขายดอลลาร์ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่ากลับไปที่ระดับดังกล่าวได้ ส่วนทางด้านผู้นำเข้าต่างรอซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า โดยแนวรับของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.40-33.60 บาทต่อดอลลาร์

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.40-34.00 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.75 บาท/ดอลลาร์

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทอ่อนค่ากลับมาเคลื่อนไหวใกล้ๆ ระดับ 33.68-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อนที่ 33.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าเล็กน้อย ขณะที่แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วน เนื่องจากตลาดกลับมารอติดตามหลายเรื่องสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ประเด็นเพดานหนี้ และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในช่วงปลายสัปดาห์ โดยตลาดคาดการณ์ว่า อาจมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนตำแหน่งในเดือนก.ย. 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.55-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ สถานการณ์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีน ทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ข้อมูลเงินเฟ้อของไทยเดือนก.ย. และตัวเลขยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนส.ค. ของสหรัฐฯ