อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ 33.65 บาท/ดอลลาร์

01 ต.ค. 2564 | 07:35 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2564 | 21:35 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วหลังธปท.แสดงความกังวล รวมถึง แรงหนุนจากราคาทองคำปรับตัวขึ้นผู้เล่น ทยอยขายทำกำไรบ้าง 

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า" ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่า เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วในวันก่อน หลังธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงความกังวลความผันผวนของเงินบาท รวมถึง เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ที่ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทองคำ ทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่โดยรวม เราคงมุมมองว่า  ในระยะสั้น เงินบาทยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าปัจจัยเสี่ยงด้านอ่อนค่าจะเริ่มคลี่คลายลง โดยเฉพาะ ปัญหาการเจรจา Debt Ceiling ของสหรัฐฯ ที่จะกดดันให้ตลาดยังคงต้องการเงินดอลลาร์อยู่ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงในประเทศ อาทิ ปัญหาน้ำท่วม และ แนวโน้มการระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ 

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ที่โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปได้ถึงแนวต้านถัดไปในช่วง 34.25 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่า เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก จนกว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างชัดเจน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.80 บาท/ดอลลาร์


ตลาดการเงินโดยรวมปิดไตรมาสที่ 3 ด้วยภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลของผู้เล่นในตลาดการต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอลง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง รวมถึง ความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลาง และความวุ่นวายทางการเมืองสหรัฐฯ หลังสภาคองเกรสยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นขยายเพดานหนี้ 

 

ความกังวลจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ได้กดดันให้ ในฝั่งตลาดสหรัฐฯ ดัชนี Dowjones ย่อตัวลงกว่า -1.59% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ที่ปิดตลาด -1.19% ซึ่งทั้งสองตลาดถูกกดดันโดยแรงเทขายหุ้นในกลุ่ม Cyclical จากกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ที่ล่าสุดยังไม่สดใสนัก หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ได้ปรับตัวขึ้นแย่กว่าคาด สู่ระดับ 3.6 แสนราย

 

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 ปิดไตรมาส 3 ด้วยการย่อตัวลง -0.79% หลังหุ้นในกลุ่ม Cyclical ต่างปรับตัวลดลง อาทิ Safran -2.54%, Airbus -1.88%, BMW -1.35% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปอาจเผชิญความผันผวนต่อได้ เนื่องจากวิกฤติพลังงานที่จะส่งผลกระทบให้ราคาพลังงาน รวมถึงค่าไฟพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของหลายบริษัทโดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตอุตสาหกรรม 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือความผันผวนในตลาด ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงราว 4bps สู่ระดับ 1.50% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะแกว่งตัวผันผวนใกล้ระดับ 1.50% ในช่วงนี้ และจะกลับมาทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยอาจเห็นบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.70% ได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มทยอยออกมาดีขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟดต่อไป

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังมีโมเมนตัมหนุนอยู่จากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาด ทั้งนี้ ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 94.30 จุด อนึ่ง การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พร้อมกับการอ่อนค่าเล็กน้อยของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาแตะระดับ 1,753 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งต้องจับตามองว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงอยู่ในตลาดจะช่วยหนุนโมเมนตัมของราคาทองคำได้หรือไม่ 

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหา Supply chain รวมถึงภาวะขาดแคลนแรงงานมากน้อยเพียงใด โดยตลาดประเมินว่า ภาคการผลิตโดยรวมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่จะเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนกันยายน ที่จะลดลงสู่ระดับ 59.5 (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) โดยปัจจัยกดดันภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยังเป็นภาพเดียวกันกับทั้งโลก คือ ปัญหา Supply Chain ที่ส่งผลให้การขนส่งสินค้าชะลอตัวลง อีกทั้งยังส่งผลให้ ราคาต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น

 

ส่วนในฝั่งไทย ควรรอลุ้น แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตเช่นกัน หลังจากผลกระทบจากการระบาดของ Delta รวมถึง ปัญหาด้าน Supply Chain ได้กดดันให้ ภาคการผลิตของไทยหดตัวลงหนักในเดือนสิงหาคม ซึ่งตลาดมองว่า ภาคการผลิตไทยจะยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง จากปัญหา Supply Chain ทำให้  PMI ภาคการผลิตเดือนกันยายน จะอยู่ที่ระดับ 48 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยก็เริ่มมีความหวังฟื้นตัว หากดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) เดือนกันยายน ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 40.5 จุด สะท้อนว่า ภาคธุรกิจเริ่มมั่นใจแนวทางการทยอยผ่อนคลาย Lockdown และอาจจะเริ่มกลับมาจ้างงานรวมถึง ลงทุนเพิ่มเติม

 

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแข็งค่ากลับมาใกล้ๆ ระดับ 33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้านี้ 1 ต.ค. (เคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 33.63-33.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังเปิดตลาดในช่วงเช้า) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.83 บาทต่อดอลลาร์ฯ  โดยเงินบาทแข็งค่ากลับมา หลังพ้นช่วงความต้องการเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงสิ้นเดือนสิ้นไตรมาส ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันจากข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่เพิ่มมากกว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้ตลาดยังติดตามประเด็นเรื่องเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขก่อน 18 ต.ค. นี้ อย่างใกล้ชิด

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.60-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่  ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ สถานการณ์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีน ทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ ประกอบด้วย ตัวเลขรายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคล อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนส.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ