อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "อ่อนค่า"ที่ระดับ  33.94 บาท/ดอลลาร์

30 ก.ย. 2564 | 07:57 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2564 | 19:03 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท"อ่อนค่า"ยังมีแนวต้านสำคัญจะอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์ กรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.05 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.94 บาท/ดอลลาร์ "อ่อนค่า"ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.86 บาทต่อดอลลาร์ 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองว่า  ในระยะสั้น เงินบาทยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้และปัจจัยเสี่ยงด้านอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่เงินดอลลาร์ยังมีโมเมนตัมหนุนการแข็งค่าอยู่จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความผันผวนของผู้เล่นในตลาด ซึ่งเราประเมินว่า หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงในประเทศเข้ามาซ้ำเติมการอ่อนค่าของเงินบาทที่อาจจะส่งผ่านมาจากแรงเทขายสินทรัพย์โดยนักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวต้านสำคัญจะอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปได้ถึงแนวต้านถัดไปในช่วง 34.25 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากตลาดการเงินโดยรวมเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ก็จะช่วยลดโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ลง และช่วยให้เงินบาทจะสามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมากนัก จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะเห็นพัฒนาการข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีขึ้นชัดเจน โดยแนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.40-33.60 บาทต่อดอลลาร์ 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.05 บาท/ดอลลาร์

ผู้เล่นในตลาดการเงินมีความพยายามเข้ามาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงหลังมีการย่อตัวลงหนักติดต่อกันหลายวัน (Buy on DIp) ทว่า บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเกิดภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ แต่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง) แม้ว่า บรรดาประธานและผู้ว่าธนาคารกลางหลัก อาทิ Fed, ECB, BOJ และ BOE จะพยายามส่งสัญญาณว่า เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงชั่วคราว นอกจากนี้ ตลาดยังเผชิญ ความวุ่นวายทางการเมืองสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนหนักได้ หลังสภาคองเกรสยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นขยายเพดานหนี้ ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้ภายในวันที่ 18 ตุลาคม 

เนื่องจากตลาดการเงินโดยรวมยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ทำให้ในฝั่งตลาดสหรัฐฯ ดัชนี Dowjones รีบาวด์ขึ้นมาเพียง +0.26% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ที่ปิดตลาด +0.16% ในขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ยังไม่สามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาได้ และย่อตัวลง -0.24%   

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว +0.53% หนุนโดยหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ Airbus +3.5%, Volkswagen +3.4%, ING +2.7%, Santander +2.5% ส่วนหุ้นเทคฯ ยังคงเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ASML -2.6%, Infineon Tech. -1.1% 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังคงอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวและบางส่วนยังต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงการเมืองสหรัฐฯ หากสภาคองเกรสไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงราว 4bps สู่ระดับ 1.51% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงผันผวนและมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ ตามแนวโน้มการทยอยปรับลดคิวอีของเฟดที่จะกลับมาชัดเจนมากยิ่งขึ้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะถัดไปเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเดินหน้าแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก และทำจุดสูงสุดใหม่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 หนุนโดยความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาด จากปัจจัยเสี่ยงเดิม อาทิ ประเด็น Evergrande รวมถึงความกังวลภาวะ Stagflation และ ปัจจัยเสี่ยงล่าสุดอย่าง การเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 94.34 จุด กดดันให้ ค่าเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงหลุดระดับ 1.16 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนค่าเงินเยน (JPY) ก็อ่อนค่าแตะระดับ 111.9 เยนต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังกดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงต่อเนื่องแตะระดับ 1,729 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังทางการสามารถคุมการระบาดของ Delta ได้และเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ซึ่งตลาดประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตและการบริการจะกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) เดือนกันยายนที่จะขยับขึ้นสู่ระดับ 50.2 จุด และ 50.8 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) อย่างไรก็ดี โมเมนตัมการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนอาจชะลอได้ หากปัญหาหนี้ Evergrande ส่งผลกระทบรุนแรงและลุมลามไปยังภาคเศรษฐกิจจริง รวมถึง ภาวะขาดแคลนพลังงานในจีนที่ส่งผลให้เกิดวิกฤติไฟดับ ทำให้หลายโรงงานไม่สามารถเดินหน้ากำลังการผลิตได้เต็มที่ ซึ่งล่าสุด ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวต่อเศรษฐกิจจีนได้ทำให้เริ่มมีนักวิเคราะห์ปรับประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนลดลง ต่ำกว่า +8% ในปีนี้

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 ปีครั้งใหม่ ที่ 33.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 33.93-33.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้านี้ (30 ก.ย.) โดยเงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.86 บาทต่อดอลลาร์ฯ  โดยเงินบาทเผชิญแรงขาย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังคงแข็งค่ารับความเป็นไปได้ที่จะเห็นสัญญาณคุมเข้มอย่างต่อเนื่องจากเฟด หลังประธานเฟดระบุว่า แรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจอยู่ในระดับสูงกว่าที่เฟดเคยประเมินไว้

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.85-34.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่  ทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในประเทศ ข้อมูล PMI เดือนก.ย. ของจีน ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบด้วย จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และ GDP ไตรมาส 2/2564 นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามปัญหาเพดานหนี้และความเสี่ยงปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐฯ สถานการณ์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีน